svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

วีรศักดิ์คิกออฟจัดทัพโคนมไทย

21 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วีรศักดิ์" คิกออฟโครงการ "จัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ" หวังใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ช่วยอุตสาหกรรมสินค้าโคนม และนมโคแปรรูปของไทยให้แข่งขันได้ ดึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์นมโคแปรรูปของไทยสู่ตลาดโลก

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานในงานเปิดตัวโครงการ "จัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ" และพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ MOUระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมแปรรูปของไทยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ณกระทรวงพาณิชย์ ว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ คือการช่วยสินค้าเกษตรของไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศ และเห็นว่าอุตสาหกรรมสินค้าโคนมและนมโคแปรรูปของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและมีศักยภาพจึงมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เตรียมความพร้อมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) เพื่อขยายโอกาสการส่งออกให้กับนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นมโคในภูมิภาคทำให้อุตสาหกรรมสินค้าโคนมไทยมีศักยภาพแข่งขันได้ในตลาดโลก



ทั้งนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความร่วมมือ MOUระหว่างผู้ประกอบการทั้ง 10 ราย กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ ด้วย เพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์โคนมแปรรูปและช่วยผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดส่งออกได้อย่างมั่นคงโดยปัจจุบันประเทศคู่ค้าเอฟทีเอหลายประเทศของไทย อาทิ อาเซียน และจีนได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์นมโค อาทิ นมพร้อมดื่ม โยเกิร์ต และเนยที่ส่งออกจากไทยแล้ว และไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์นมหลายชนิด เช่น นมพร้อมดื่มนมเปรี้ยว โยเกิร์ต เนย นมข้นหวาน เป็นต้น ไปยังตลาดอาเซียน และจีน โดยในปี 2561มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์นมของไทยคิดเป็น 480 ล้านดอลลาร์ มีอัตรามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น17.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า



นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า กรมฯได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้านมโคแปรรูปประเภทต่างๆเช่น โยเกิร์ต นมยูเอชที นมสดพาสเจอร์ไรส์ ไอศกรีม เนยแข็ง นมอัดเม็ด เป็นต้นจำนวน 10 ราย จากผู้สมัคร 54ราย เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะต้องมีคุณสมบัติ เช่น (1) ใช้นมโคภายในประเทศเป็นหลัก(2) ใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า (3) สินค้ามีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดมีศักยภาพส่งออก (4) เป็นสินค้าแปลกใหม่ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และ (5)เน้นกลยุทธ์การค้าระยะยาว เป็นต้นซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับคำปรึกษาเชิงลึก (Coaching) เรื่องการเพิ่มศักยภาพการผลิตและการปรับปรุงผลิตภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงจะได้ร่วมอบรม Boot Camp เน้นการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีเพื่อเข้าสู่ตลาดประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ และสร้างความเข้าใจในตลาดของสินค้าเป้าหมายหลังจากนั้นจะพาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ไปเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า สำรวจตลาดค้าปลีกจับคู่ธุรกิจและสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับผู้ประกอบการ ผู้นำเข้าในประเทศอาเซียนซึ่งครั้งนี้จะไปชมงานแสดงสินค้าที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากประชาชนนิยมบริโภคสินค้าที่หลากหลาย และนิยมสินค้าอาหารพรีเมี่ยมที่จะช่วยกระตุ้นการยกระดับพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพ มาตรฐานและการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

 


สำหรับโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการ 6เดือน เมื่อเสร็จสิ้นโครงการฯคาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยได้รับองค์ความรู้ในหลายมิติทั้งด้านผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีให้มากที่สุดรวมทั้งสามารถสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการของไทยกับผู้นำเข้าตลาดเป้าหมายได้มากขึ้น

logoline