svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สกู๊ป: 'แม่โขง'มีน้ำพอให้ผันเข้าเลย ชี มูล หรือ?

19 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โครงการผันน้ำโขง เข้าสู่ลุ่มน้ำเลย ชี และมูล เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถูกปัดฝุ่นอย่างจริงจังอีกครั้ง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่จะแก้ปัญหาภัยแล้ง แต่ก็ยังได้รับการคัดค้านจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับคำถามสำคัญคือในอนาคตแม่น้ำโขงจะมีน้ำให้ผันเข้าไปจริงหรือ ติดตามจากรายงาน คุณวชิรวิทย์ เลิศบำรุงชัย

กลายเป็นความวุ่นวายเล็กน้อยระหว่างกลุ่มชาวบ้านนับ 10 คนยืนลุมล้อมผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก ส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล 

เราเดินทางสำรวจผลกระทบในชุมชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ

แนวคิดการผันน้ำโขงเข้าสู่ลุ่มน้ำอีสานไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เริ่มมากว่า 20 ปีแล้ว ยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องเป็นราว

โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล รอบใหม่นี้จะเริ่มต้นจากปากแม่น้ำเลย โดยการสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักขึ้น เพื่อสูบน้ำโขงมากักไว้ในลำน้ำเลย ก่อนต่ออุโมงค์ตรงปล่อยน้ำไปตามแรงโน้มถ่วง ลงเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

นี่คือร่องรอยน้ำที่เคยท่วมถึงเกือบมิดหลังคาบ้าน ความกังวลของชาวบ้าน ซึงอยู่ในพื้นที่ต่ำสุดของลำน้ำเลย บริเสณบ้านกลาง คือกลัวว่าต้องอพยพโยกย้ายชุมชน

แม้คราวนี้ กรมชลประทาน จะใช้คำว่า 'ประตูระบายน้ำ' แทนคำว่า 'เขื่อน' ด้วยอ้างว่าประตูระบายน้ำจะไม่กักเก็บน้ำจนท่วมกลายเป็นอ่าง แต่จะกักเก็บน้ำให้เต็มลำน้ำที่ระดับตลิ่งเท่านั้น โดยไม่ต้องอพยพโยกย้ายชุมชนเหมือนการสร้างเขื่อน

ผู้ใหญ่บ้าน.ม.3 บ้านกลาง ต.ปากตม อ.เชียงคาน บอกว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด เข้ามาในชุมชน เพื่อเสนอโครงการฟื้นฟูหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ประตูระบายน้ำศรีสองรัก

หากประตูระบายน้ำศรีสองรักเกิดขึ้น วิถีชีวิตดั้งเดิม อย่างการทำประมงน้ำตื้น ในแม่น้ำเลยจะหายไป ไม่มีใครสามารถทำประมงน้ำตื้นได้อีก

พืชผักที่เคยเกิดขึ้นในท้องแม่น้ำในช่วงฤดูแล้ง ที่ผมได้ไปพบ 'ผักปอบ' ที่ขึ้นใต้น้ำในระยะที่แดดส่องถึง ชาวบ้านเรียกว่าก็จะกลายเป็นความทรงจำ 

มากไปกว่าผลกระทบ มีคำถามที่สำคัญกว่า คือแม่น้ำโขง ที่แห้งในฤดูน้ำหลาก จะมีน้ำให้ผันเข้าไป เลย ชี มูล ตามชื่อโครงการหรือไม่?

ในขณะที่ประเทศ ที่อยู่ท้ายแม่น้ำโขงไปอีกอย่างเช่นกัมพูชาและเวียดนาม ก็อาจได้รับผลกระทบ จนอาจกลายเป็นศึกแย่งชิงน้ำระหว่างภูมิภาคในที่สุด

คำถามในอีกมุมหนึ่งต่อมาก็คือ ยังมีแนวทางอื่นอีกหรือไม่ ที่ไม่ต้องใช้วิธีการผันน้ำโขง และอีกคำถามคือโครงการดังกล่าวได้ นำบทเรียนในอดีตมาทบทวน และศึกษาถึงความคุ้มค่าแล้วหรือยัง 

logoline