svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รัฐออกแบบ​ 'ผังเมือง'​ ไม่ตามหลักสากล​ สั่นคลอนความน่าเชื่อถือโครงการ​ 'EEC'​

18 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ข้อเท็จจริงบนหลักการผังเมืองนั้นเห็นได้ชัดว่า EEC ผิดพลาดไม่ได้ทำตามกฎสากลอย่างมาก โครงการเช่นนี้หรือ? ที่นักลงทุนที่ดี ควรเข้ามาลงทุน โครงการ EEC อาจหมดความน่าเชื่อ หากทำผังเมืองด้วยวิธีสกปรก

ปูทะเลหลายสิบตัวเข้าไปติดอยู่ในกับดักที่ชาวบ้านวางไว้ในคลองน้ำกร่อยที่มีน้ำทะเลหนุนเข้ามา พื้นที่ตรงนี้อยู่ ใกล้ๆกับบ่อกุ้ง และบ่อเพาะลูกปลาของชาวบ้านในตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำบางปะกงราว 500 เมตร

พื้นที่แบบนี้มองด้วยตาเปล่า ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่'เกษตรกรรม' ที่ควรจัดอยู่ในพื้นที่ 'สีเขียว' ในผังเมืองรวม แต่ที่นี่กำลังจะถูกเปลี่ยนสีเป็น 'สีม่วง' เพื่อเป็นที่ดินทำอุตสาหกรรม

นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ผมได้ลงมาในพื้นที่ EEC ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องนายหน้ากว้านซื้อที่ดิน เพื่อที่เตรียมทำ 'นิคมอุตสาหกรรม' แต่ก็ยังติดอยู่ว่าผังเมืองบริเวณนี้ยังเป็นสีเขียว ต่อให้ซื้อที่ดินไปมากแค่ไหนก็ยังสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้

ไม่มีใครคิดว่าภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี ร่างผังเมือง EEC จะออกมา และสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น พื้นที่บริเวณนี้ถูกเปลี่ยนเป็น 'สีม่วง'

'ผังเมือง' ถือเป็นหลักการสากลในการแบ่งปันทรัพยากรของคนหลายกลุ่ม ถ้าผังเมืองถูกยกเลิกไปหมายความว่ากฎกติกาในการอยู่ร่วมกันก็จะถูกทำลายไปด้วย การทำผังเมืองใหม่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่ม

การกำหนดผังเมือง เป็นไปเพื่อกำหนดว่าพื้นที่ไหนควรใช้สอยอย่างไร แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนทำให้ไม่มีผลกระทบต่อกันมากนัก โรงงานก็อยู่ส่วนโรงงาน พื้นที่เกษตรกรรมก็อยู่ส่วนพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อยู่อาศัยก็เป็นพื้นที่อยู่อาศัย จะมีโรงงานเข้ามาก่อสร้างใกล้ๆไม่ได้ แต่เมื่อผังเมืองเปลี่ยนไป นั่นหมายความว่ากระทบกับวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในพื้นที่บริเวณนั้น

และนี่คือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

แต่ปัญหาในพื้นที่ตำบลเขาดินซับซ้อนไปมากกว่านั้นชาวบ้านที่ทำกินส่วนใหญ่เช่าที่นา จากครอบครัวที่ในอดีตมีโอกาสฉวยบุกเบิกที่ดินถือครองมากๆ เพราะเมื่อก่อนเป็นป่ารก ใครใคร่ถากถางได้ก่อน ก็ได้ที่ไปออกโฉนด

'สายชล เจริญศรี' เล่าว่าเคยถามพ่อว่าทำไมไม่ถากถางที่ทางเก็บเอาไว้มากๆ พ่อของเขาบอกว่าสมัยก่อนพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าไม่มีใครคิดว่าจะถูกนำมาใช้ประโยชน์หรือเปลี่ยนสภาพเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาเป็นแหล่งรายได้หลัก ของครอบครัวในทุกวันนี้

ทว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่สีเขียวที่สงวนไว้ทำเกษตรกรรมในผังเมือง ชาวบ้านจึงมีสิทธิ์ที่จะเช่าที่หลายสิบไร่เพื่อทำบ่อกุ้ง เลี้ยงปลา จับปู สร้างรายได้วันละเฉลี่ย 4,000 บาท และต่อเดือน มีรายได้มากถึง 120,000 บาท หลังหักต้นทุน ทั้งหมดก็ยังมีรายได้ต่อเดือนอยู่ในหลักแสนบาท

แต่วิถีชีวิตที่เคยหารายได้กันมาอย่างเรียบง่าย และได้เป็นกอบเป็นกำเช่นนี้ กำลังจะหายไปหลังจากที่ผังเมืองเปลี่ยนสี คำถามสำคัญของชาวบ้านคือเขตพัฒนาเศรษฐกิจ คำว่า 'เศรษฐกิจ' เป็นของใคร? ของชาวบ้านหรือของนายทุน คงจะมีคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้วเพราะชาวบ้านที่เคยมีรายได้สูงจากการทำเกษตรไม่สามารถใช้สอยพื้นที่เหล่านี้ได้อีกต่อไปแล้ว ที่เหลือก็อยู่กับนายทุนว่าจะเปลี่ยนพื้นที่บริเวณนี้เป็นอย่างไร

ต่อให้รายได้ที่ชาวบ้านเคยได้รับจะสูงกว่ารายได้ขั้นต่ำในโรงงาน แต่ก็ช่างเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกันสิ้นดีสำหรับคำว่า 'เขตพัฒนาพิเศษ'

มีประเด็นที่น่าจับตามองในการต่อต้านคัดค้านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในครั้งนี้ก็คือตัวพ.ร.บ.อีอีซี ที่มีหลายมาตราอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นการทำผังเมืองโดยไม่โดยผ่านการมีส่วนร่วมจากชาวบ้านในพื้นที่ ก็ถือว่าขัดบทบัญญัติแห่งรัฐอย่างชัดเจน ยังไม่นับรวมการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีน้อยมากในโครงการ EEC ที่ดูเหมือนบอร์ดจะมีอำนาจเต็มกว่าใครๆ

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะต่อต้านโครงการที่มีเงินมากถึงหลักแสนล้าน หมื่นล้าน แหล่งข่าวคนหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยว่า นักการเมืองบางกลุ่มก็ยังถูกล็อบบี้โดยกลุ่มทุน เคลื่อนไหวได้ยากมากสำหรับการค้าน EEC

เป็นสัจธรรมที่ความเข้มแข็งของชุมชนต้องได้รับการพิสูจน์อยู่เสมอ ความท้ายทายตอนนี้นอกจาก ตัวพ.ร.บ eec แล้ว ไม้เด็ดของอีกฝ่ายคือการสร้างมวลชนอีกกลุ่ม ในขณะที่ข้อเท็จจริงบนหลักการผังเมืองนั้นเห็นได้ชัด EEC ผิดพลาดไม่ได้ตามกฎสากลอย่างมาก โครงการเช่นนี้หรือที่นักลงทุนที่ดี ควรเข้ามาลงทุน โครงการ EEC อาจหมดความน่าเชื่อ หากทำผังเมืองด้วยวิธีสกปรก

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajitavitDaily

logoline