svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผังเมือง​ EEC​ กระทบแหล่งผลิตอาหารชั้นดี พรรคฝ่ายค้านชี้เอื้อทุนใหญ่ เล็งแก้กฎหมาย

18 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสภาที่ 3 ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบจากผังเมือง EEC พบเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม โดยมิชอบ แม้อาศัยอำนาจจัดผังเมืองตามพรบ. EEC แต่ไร้การมีส่วนร่วมขัดรัฐธรรมนูญ ด้านพรรคฝ่ายค้านเตรียมตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ เร่งแก้กฎหมาย ไปติดตามจาก คุณวชิรวิทย์ เลิศบำรุงชัย รายงานสด จาก ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

18 ส.ค. 62 - คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาคม 53  และสภาที่ 3 ลงพื้นที่หลังจากกลุ่มชาวบ้านร้องเรียนผลกระทบจากร่างผังเมือง EEC  พาไปดูตัวอย่าง ผลกระทบใน 2 จุดสำคัญหลักๆ  จุดแรกคือที่ตำบลหนองตีนนก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการก่อสร้าง dry Port  ต้องมีการเวนคืนที่ดิน 760  ไร่เพื่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าจะไปขวางทางน้ำและทำให้เกิดน้ำท่วมกระทบต่อการเพาะเลี้ยงลูกปลานิลจิตรลดา พันธุ์ปลาพระราชทาน ในขณะที่พื้นที่ดังกล่าว เดิมในผังเมืองเป็นสีเขียวแต่ร่างผังเมือง EEC ที่กำลังรอมติครม.เปลี่ยนเป็นสีม่วงให้ทำอุตสาหกรรมได้

ส่วนอีกจุด คือที่ตำบลเขาดิน เป็นพื้นที่เลี้ยงอาหารทะเลหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกุ้งปูและปลา ชาวบ้านกำลังจับปูทะเล ที่ติดกับดักขึ้นมาหลายสิบตัว ซึ่งสามารถขายได้กิโลกรัมละ 600 บาท เดิมอยู่ในผังเมืองสีเขียวคือเพื่อการทำเกษตรกรรม และห้ามทำอุตสาหกรรม หลังจากที่มีร่างผังเมือง EEC เปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีม่วงคือเพื่อการทำอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน ขณะที่กลุ่มทุนที่ใช้ชื่อว่า ดับเบิ้ลพีแลนด์ มีการกว้านซื้อที่ดินและปักป้าย ในพื้นที่ดังกล่าวไปแล้วจำนวน 2000 ไร่เพื่อแสดงสิทธิ์ 

นายสายชล เจริญศรี ชาวบ้าน ม.2 ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา บอกว่า  มีที่ดินที่ถือครองเป็นโฉนดเพียงแค่ 3 ไร่แต่ที่ดินทำกิน 40 ไร่ นั้น เช่าทั้งหมด และสามารถทำกิน  ได้อีก 5 ปี นับจากปี 62 เนื่องจากมีพ.ร.บ.เช่านาคุ้มครองอยู่ แต่พื้นที่ดังกล่าวก็มีการปักป้าย แสดงสิทธิ์ของบริษัทดับบลิวพีแลนด์ไปแล้ว โดยเตรียมพื้นที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีโคคาร์ และแบตเตอรี่  

ครอบครัวของสายชลมีรายได้จากการเลี้ยง  กุ้งหอยปูปลาในพื้นที่เช่า 40 ไร่  มีรายได้เฉลี่ยวันละ 4,000 บาทหรือ  ได้รายได้ 120,000 บาท/เดือน ซึ่งมากกว่ารายได้ขั้นต่ำในโรงงาน หลายเท่า เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลืออยู่เดือนละแสนบาท  ซึ่งเมื่อผังเมืองเปลี่ยนพื้นที่จากสีเขียวเป็นสีม่วง ก็ทำให้เจ้าของที่ ที่เคย.shเช่า ขายที่ดินให้กับนายทุน  เพื่อทำนิคมอุตสาหกรรม  เพราะเสนอขายไร่ละ 3 ล้านบาท  โดยยังมีครอบครัวที่เป็นเหมือนสายชลอีกกว่า 70 ครอบครัวที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน  

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย บอกว่า การจัดทำผังเมือง EEC โดยอาศัยอำนาจจากพระราชบัญญัติ EEC มาใช้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ ขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งมีศักดิ์ใหญ่กว่า เมื่อกฎหมายลูกขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงอาจไม่มีผลบังคับใช้ และถ้ารัฐยังเดินหน้าผังเมืองนี้ ต่อไปก็จะเดินหน้า ฟ้องศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ประธานคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ระบุว่าเบื้องต้น ผังเมือง EEC อาจขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวในพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีมาเป็นสีม่วงเพื่อให้ทำอุตสาหกรรมได้โดยไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเมื่อพูดถึงพื้นที่อีอีซี ก็ไม่เห็นด้วย กับการสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน โดยยกพื้นที่มักกะสัน ให้เอกชนใช้ประโยชน์ในระยะยาวถึง 50 ปี ซึ่งเห็นได้ชัดว่าตัวบทกฎหมายของ EEC ให้อำนาจกับคณะกรรมการบอร์ด มากจนเกินไปและไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ละเว้นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ยืนยันไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่การพัฒนาต้องควบคู่ไปกับชุมชน ซึ่งกลไกผังเมืองนั้นเป็นกลไกสำคัญที่จะแบ่งโซนนิ่งต่างๆให้ลงตัว  กรณีนี้พรรคฝ่ายค้านจะเดินหน้าแก้กฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้เร็วที่สุด 

ด้านนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.ฉะเชิงเทรา พรรคอนาคตใหม่ ตั้งกระทู้ถามสด กรณี การอนุมัติผังการใช้ที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ว่า ได้มีการจัดทำผังเมืองเป็นไปตามหลักการการทำผังเมืองหรือไม่ ระบุ ขั้นตอนของการแก้ พ.ร.บ. EEC ต้องเริ่มจากการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาผลกระทบจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จาก 4 พรรคการเมือง แต่ล่าสุดยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องยอมรับว่าโครงการ EEC มีกลุ่มทุนเกี่ยวข้องที่ได้-เสีย ประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งกลุ่มทุนก็มีส่วนกำหนดทิศทางทางการเมืองได้อีก ทำให้เป็นเรื่องยากพอสมควร

ทั้งนี้ ญัตติเกี่ยวกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เคยเสนอเข้าไปสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้งแต่ก็ถูกดึงต้องตกไปทุกที จนเป็นที่น่าสังเกตได้ว่ากลุ่มทุน มีอิทธิพลเกี่ยวกับโครงการนี้อย่างมาก เพราะโครงการเป็นระดับ แสนล้าน หมื่นล้าน แต่มีปัญหาเรื่องของการจัดผังเมือง  

อย่างไรก็ตามตนในฐานะส.ส. ในพื้นที่ ได้เห็นปัญหาจากการใช้ผังเมือง EEC ก็จะใช้กลไกทางรัฐสภาในการทวงถามตามปัญหาดังกล่าว ในขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าก็จะมีหลายเรื่องใหญ่ ซึ่งนอกจากปมถวายสัตย์ และแหล่งที่มาของงบประมาณแล้ว ประเด็น EEC ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย

logoline