svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นักวิจัยพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดใกล้เคียงกับโลก 2 ดวง!

17 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทีมนักวิจัยจากยุโรปค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีมวลใกล้เคียงโลก 2 ดวง กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ทีการ์เดน (Teegarden) หนึ่งในดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกที่สุด ซึ่งดาวเคราะห์มวลใกล้เคียงกับโลก 2 ดวง ห่างจากโลก 12.5 ปีแสง

17 ส.ค. 62 - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ค หัวข้อ "ดาวเคราะห์มวลใกล้เคียงกับโลก 2 ดวง ห่างจากโลก 12.5 ปีแสง" เนื้อหาระบุ ทีมนักวิจัยจากยุโรปค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีมวลใกล้เคียงโลก 2 ดวง กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ทีการ์เดน (Teegarden) หนึ่งในดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกที่สุด

งานวิจัยครั้งนี้นำทีมโดยมาธียาส เซกเมสเตอร์ (Mathias Zechmeister ) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน (Gttingen) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในยุโรป ศึกษาดาวฤกษ์ทีการ์เดน ที่อยู่ห่างจากโลก 12.5 ปีแสง ในกลุ่มดาวแกะ (Aries) ด้วยวิธีการ "วัดความเร็วแนวเล็ง (Radial Velocity Method)" พบว่า ดาวฤกษ์ดวงนี้มีดาวเคราะห์โคจรรอบอยู่ 2 ดวง ซึ่งทั้งสองมีมวลใกล้เคียงกับโลก และมีความเป็นไปได้ว่าทั้งสองดวงนี้จะอยู่ในตำแหน่งที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Habitable Zone)

"ดาวฤกษ์ดวงแม่ที่เล็กและมีอุณหภูมิต่ำกว่าดวงอาทิตย์"

ทีการ์เดนเป็นดาวฤกษ์ประเภท "ดาวแคระแดง (Red Dwarf)" มีขนาดเล็กและมีอุณหภูมิต่ำ มีมวลน้อยกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 10 เท่า และมีอุณหภูมิประมาณ 2,700 เคลวิน เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกเป็นอันดับที่ 26

"เป็นการค้นพบด้วยวิธีการที่ยากและซับซ้อนกว่าปกติ"

นักวิจัยพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดใกล้เคียงกับโลก 2 ดวง!



การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากกว่า 90 เปอร์เซนต์ เป็นการค้นพบด้วยวิธีการที่เรียกว่า "วิธีการเคลื่อนที่ผ่านหน้า (Transit Method)" กล่าวคือ เมื่อดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ ปริมาณแสงสว่างของดาวฤกษ์จะลดลง ทำให้นำข้อมูลไปวิเคราะห์หาคุณสมบัติของดาวเคราะห์ได้ แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดคือ หากดาวเคราะห์มีขนาดไม่ใหญ่พอ จะไม่สามารถสังเกตเห็นความสว่างที่เปลี่ยนแปลงไปได้เลย สำหรับงานวิจัยครั้งนี้ค้นพบด้วยวิธีที่ซับซ้อนกว่านั้น เรียกว่า วิธีการวัดความเร็วแนวเล็ง

"การวัดความเร็วแนวเล็ง" เป็นวิธีการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อาศัยหลักการทางฟิสิกส์ คือ วัตถุตั้งแต่ 2 วัตถุที่โคจรรอบกันภายใต้แรงโน้มถ่วง โคจรรอบจุด 1 จุด เรียกว่า "จุดศูนย์กลางมวล" โดยตำแหน่งจุดศูนย์กลางมวลของแต่ละระบบจะค่อนไปทางวัตถุที่มีมวลมากกว่า ซึ่งในกรณีของระบบดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์จะมีมวลมากกว่าดาวเคราะห์อยู่มาก จึงมีจุดศูนย์กลางมวลของระบบอยู่ภายในดาวฤกษ์หรือใกล้เคียงกับดาวฤกษ์มาก ทำให้ดูคล้ายกับว่าดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์อยู่

"การส่ายของดาวฤกษ์ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์"

ดาวฤกษ์เองก็โคจรรอบจุดศูนย์กลางของระบบ แต่ลักษณะการเคลื่อนที่เกิดขึ้นไม่ชัดเจนนัก เมื่อมองจากโลกจะเห็นคล้ายกับดาวฤกษ์ส่ายไปมาเล็กน้อย แต่ก็เพียงพอให้นักดาราศาสตร์สามารถระบุได้ว่า มีดาวเคราะห์มวลเท่าไรที่กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์อยู่

สำหรับอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยในการค้นพบครั้งนี้ คือ CARMENES ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อค้นหาดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์มวลน้อย โดยดาวแคระแดงเป็นประเภทของดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยที่สุด ทำให้ CARMENES เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะด้วยวิธีการวัดความเร็วแนวเล็ง นอกจากนี้ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะสองดวงนี้ ยังมีมวลใกล้เคียงกับโลกและมีโอกาสที่จะอยู่ในตำแหน่งที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตสูง จึงเป็นอีกหนึ่งระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้

เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

อ้างอิง : http://www.iac.es/divulgacion.php?op1=16&id=1579&lang=en

นักวิจัยพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดใกล้เคียงกับโลก 2 ดวง!

logoline