svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ไทยจับมือเยอรมนีสร้างภูมิคุ้มกันและปรับตัวจากภาวะโลกร้อนของลุ่มน้ำสะแกกรัง

17 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดงานเปิดตัวการดำเนินงานในระดับภูมิภาคของโครงการด้านน้ำ ภายใต้ความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Climate Programme Water: TGCP Water) ณ โรงเรียนหนองฉางวิทยา จังหวัดอุทัยธานี

โดยมีผู้แทนจากสถานเอกอัคราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง ผู้แทนหน่วยงานราชการ และผู้แทนชุมชนในลุ่มน้ำสะแกกรังเข้าร่วมกิจกรรม การตั้งรับปรับตัวในภาคส่วนน้ำเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยในคราวประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบสัตยาบันการเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสของไทยให้กับเลขาธิการสหประชาชาติ หนึ่งในความตกลงดังกล่าวครอบคลุมการดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ไทยจับมือเยอรมนีสร้างภูมิคุ้มกันและปรับตัวจากภาวะโลกร้อนของลุ่มน้ำสะแกกรัง

นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า "รัฐบาลไทยมีความร่วมมือทางวิชาการกับรัฐบาลสหพันธ์รัฐเยอรมนี ภายใต้แผนงาน Thailand-German Climate Programme โดยในภาคส่วนน้ำ มีแผนการดำเนินงาน 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) การพัฒนานโยบายระดับประเทศ 2) การขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค 3) การติดตามและประเมินผล 4) การขับเคลื่อนและการสนับสนุนกลไกทางการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ และ 5) การขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมัน ซึ่งการเปิดตัวโครงการในวันนี้ เป็นการเน้นย้ำการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาคร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ด้านการตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้ากับแผนงานโครงการด้านการบริหารทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำที่ สทนช. ภาค เป็นเจ้าภาพหลัก มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำ ลดความเสี่ยงจากภาวะอุทกภัย ความแห้งแล้ง รวมถึงรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเฉียบพลันในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ สทนช. เองมีงานศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในลุ่มน้ำสะแกกรัง เนื่องจากเป็นลุ่มน้ำที่มีความขัดแย้งในแนวทางการพัฒนาระหว่างพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยผลการศึกษาจะนำไปสู่การกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาบนหลักการมีส่วนร่วมต่อไป"

ไทยจับมือเยอรมนีสร้างภูมิคุ้มกันและปรับตัวจากภาวะโลกร้อนของลุ่มน้ำสะแกกรัง



คุณทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า "GIZ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการประชุมเพื่อคัดเลือกพื้นที่นำร่อง 2 พื้นที่ ได้แก่ ลุ่มน้ำสะแกกรังและลุ่มน้ำยม การคัดเลือกพื้นที่นำร่องพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพและความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ สภาพเศรษฐกิจ-สังคม ความเข้มแข็งของชุมชนและการมีส่วนร่วม รวมถึงความเป็นไปได้ในการนำมาตรการสีเขียวมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดยจากประสบการณ์ของ GIZ มาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ โดยใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาตินั้น มีศักยภาพที่จะทำให้ชุมชนสามารถจัดการกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่รุนแรงได้ ซึ่งมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการเพื่อการรับมือต่อสภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ

ไทยจับมือเยอรมนีสร้างภูมิคุ้มกันและปรับตัวจากภาวะโลกร้อนของลุ่มน้ำสะแกกรัง



มร. ยาน แชร์ (Mr. Jan Scheer) อุปทูตสถานเอกอัคราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า "ความท้าทายของการรับมือต่อสภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องใช้ความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน รัฐบาลเยอรมนีโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นภาคีที่ร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะโลกร้อนในภาคการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยและความแห้งแล้งร่วมกับชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง ทั้งนี้ ความร่วมมือของโครงการด้านน้ำฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 และจะดำเนินการไปจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 "

ไทยจับมือเยอรมนีสร้างภูมิคุ้มกันและปรับตัวจากภาวะโลกร้อนของลุ่มน้ำสะแกกรัง



ท้ายสุด ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. ได้กล่าวสำทับในนโยบายว่า "สทนช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านน้ำของประเทศ ภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี เราเล็งเห็นความสำคัญของการจัดทำแผนงานบูรณาการ ซึ่งเป็นแผนงานที่มาจากความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ เราไม่ได้มองที่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เท่านั้น โครงการหรือกิจกรรมเล็กๆ ในระดับท้องถิ่น หากแต่สามารถส่งผลต่อยอด และเติมเต็มการบริหารทรัพยากรน้ำทั้งระบบ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ ซึ่งในขณะนี้เอง สทนช. กำลังเฟ้นหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเลิศของประเทศไทยเพื่อไปขยายผลสู่ประชาคมโลกต่อไป"

ไทยจับมือเยอรมนีสร้างภูมิคุ้มกันและปรับตัวจากภาวะโลกร้อนของลุ่มน้ำสะแกกรัง

.

ไทยจับมือเยอรมนีสร้างภูมิคุ้มกันและปรับตัวจากภาวะโลกร้อนของลุ่มน้ำสะแกกรัง

logoline