svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

บอกความจริงไม่หมด​ หรือข่าวด้านเดียว​ ก็พอๆ​กับ 'เฟคนิวส์'​

16 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้คนก็ยังต้องการข่าวสาร เพราะข่าวสารเป็นตัวเชื่อมโยง กลไกในสังคม แต่สิ่งที่ผู้เสพข่าว จะต้องมีคือ 'การรู้เท่าทันกระบวนการสร้างข่าว' ซึ่งจริงๆก็ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนอะไร เพียงหยุดคิดสักนิดก่อนจะแชร์เท่านั้นเอง

ทุกวันนี้เรามีข้อมูลมากเกินไป มากจนยากที่จะหยิบจับมากระเทาะหรือหาแก่นสารได้ ใครๆก็สามารถหยิบจับข้อมูลมาเชื่อมโยงผูกกัน พร้อมเผยแพร่ออกมาผ่านช่องทางต่าง แต่ที่มาพร้อมๆกับข้อมูลมหาศาลคือ 'ข่าวปลอม' หรือ Fake News

'ข่าวปลอม' นอกจากจะไม่ใช่เรื่องจริงแล้ว ยังถูกสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง บ้างเพื่อใช้ในการโจมตี ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม สร้างให้เกิดความแตกตื่น หรือบางทีข่าวปลอมก็เกิดจากความไม่รู้จริงๆ

แต่ข่าวปลอม ก็ใช่ว่าจะพิสูจน์ด้วยตัวเองไม่ได้เลย มีหลากหลายวิธีที่คนธรรมดาทั่วไปสามารถเช็คข่าวได้เอง อย่างแรกคือสำรวจวันเวลาของข่าวที่ระบุ เพราะข่าวปลอมส่วนใหญ่มักนำข่าวเก่ามาเผยแพร่ซ้ำ หรือถ้าเป็นข่าวที่กุขึ้นมา ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน ประเภทนี้ก็เชื่อไว้ก่อนเลยว่าน่าจะเป็นข่าวปลอม

หรืออีกประเภทหนึ่งที่คล้ายข่าวจริง มีบุคคลอ้างอิง ก็น่าจะนำมาเสริชดู ใน Google ว่ามีสำนักข่าวอื่นๆที่รายงานข่าวในทิศทางเดียวกันนี้หรือไม่ หรือที่เรียกว่าการ Cross Check

แต่มากไปกว่าการตรวจสอบข้อมูลในอินเตอร์เน็ต หลายๆแหล่งที่มา คือการใช้วิจารณญาณ ในการไตร่ตรอง หรือใช้สัญชาตญาณของเราในการคิดทบทวนสิ่งที่ได้พบได้เห็นว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน

ข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีอยู่ในสังคมมานานแล้ว และข่าวปลอมก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา จนกระทั่งเข้าสู่ยุคของ Social Media ข่าวปลอมทำได้ง่ายมากขึ้น แต่ในอดีต เรื่องปลอมปลอมบางเรื่อง ก็ถูกข่าวประโคมจนกลายเป็นเรื่องจริง

ยกตัวอย่างเช่น 'คดีซีอุย' กินเด็ก จนล่าสุดเพิ่งจะรับการพิสูจน์ทราบ ว่าซีอุยตกเป็นแพะในคดีฆาตกรรม โดยกลไกสำคัญที่ทำให้คนในสมัยนั้นเชื่อโดยสนิทใจว่าซีอุยเป็นฆาตกรก็คือข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หัวสีต่างๆ

และยังเป็นคำถามในวงการสื่อมวลชนอยู่มากว่า นักข่าวในสมัยนั้นรายงานข่าวนี้ อย่างรอบด้านไม่เพียงพอ จนเข้าข่ายเป็น Fake News

มาถึงยุคปัจจุบันสิ่งที่เลวร้ายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า Fake News ก็คือข่าวที่บอกความจริงไม่หมด หรือตั้งใจจะบอกความจริงเพียงบางส่วน หรือการรายงานข่าว ที่ไม่รอบด้าน

การสื่อสารมวลชนที่ดี กลายเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตำรา การรายงานข่าวที่รอบด้าน เป็นเพียงแนวคิดในเชิงอุดมคติ ในวงการนี้ไปแล้วหรือไม่

คนทำข่าวยังเชื่ออยู่หรือไม่ว่า การทำหน้าที่ของเรา คือการ สะท้อนสังคมที่รอบด้านแล้วให้ผู้ชมเป็นคนตัดสิน

จำนวนไม่น้อย ข่าวก็ตัดสิน และพิพากษาสังคม ด้วยปลายปากกาของนักข่าวเอง ซึ่งมีทั้งที่เขียนเอง และเขียนตามที่คนอื่นบอกให้เขียน

แต่หากให้เปรียบเทียบกันระหว่างยุคอดีตกับยุคปัจจุบัน จากปริมาณสื่อต่างกัน ยุคนี้ข่าวปลอม จะถูกตรวจสอบ จากผู้บริโภคได้ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

เพราะเพียงพิมพ์หัวข้อข่าวที่อยากรู้ลงไปใน Google ก็จะปรากฏความรอบด้านของข้อมูล จากสำนักข่าวต่างๆ ให้ผู้อ่านได้ชั่งน้ำหนัก โดยไม่ต้องฟังคำตัดสินจากสำนักข่าวใดสำนักข่าวหนึ่ง

ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้คนก็ยังต้องการข่าวสาร เพราะข่าวสารเป็นตัวเชื่อมโยง กลไกในสังคม แต่สิ่งที่ผู้เสพข่าว จะต้องมีคือ 'การรู้เท่าทันกระบวนการสร้างข่าว' ซึ่งจริงๆก็ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนอะไร เพียงหยุดคิดสักนิดก่อนจะแชร์เท่านั้นเอง

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline