svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สงคราม "Fake News" สังคมไทยจะตั้งรับได้อย่างไร

16 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหาข่าว Fake News หรือข่าวปลอม กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่การเมืองยังมีแรงกระเพื่อมสูง เฟคนิวส์กลายเป็นอาวุธทำลายฝ่ายตรงข้ามทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้หน่วยงานรัฐจะมีกฎหมายควบคุมดูแล แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นการเกิดของเฟคนิวส์เหล่้านี้ได้ แล้วสังคมไทยจะตั้งรับปัญหา เฟคนิวส์อย่างไร

เมื่อเฟคนิวส์หรือข่าวปลอมถูกนำมาเป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น และสถานการณ์ยิ่งขยายวงกว้างจนน่าตกใจ เมื่อมีขบวนการรับจ้างผลิตข่าวปลอม โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง จึงไม่แปลกที่ บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ออกมาให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ ระบุว่ากองทัพไทยกำลังสู้รบกับ "สงครามลูกผสม" ที่ข้าศึกใช้ "ข่าวปลอม" ล้างสมองเด็กรุ่นใหม่ให้ต่อต้านกองทัพและสถาบันกษัตริย์ ถามว่าเฟคนิวส์ กลายเป็นอาวุธร้ายที่กองทัพต้องกลัวใช่หรือไม่
ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือมากกว่า 180% มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกว่า 54 ล้านคน ใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ 42 ล้านคน และทวิตเตอร์ 12 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้สังคมไทยเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดียเต็มตัว ทำให้การติดต่อสื่อสาร การรับข้อมูลข่าวสาร หรือแม้แต่การจะผลิตข่าวสารเองทำได้อย่างรวดเร็ว

สงคราม "Fake News" สังคมไทยจะตั้งรับได้อย่างไร


สอดคล้องกับข้อมูลวิจัยจากสถาบัน MIT ที่สำรวจกลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์พบว่า ข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ จะได้รับความสนใจและการแชร์ต่อ หรือรีทวีตมากกว่าข่าวจริงถึง 70% และเมื่อวัดผลในการเข้าถึง ข่าวปลอมเหล่านี้ จะไปถึงตัวผู้รับปลายทางได้เร็วกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่าดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปลอมถึงแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวางภายในแค่เสี้ยววินาที และที่สำคัญ เหตุผลที่ทำให้ข่าวปลอมได้รับการแชร์ต่อมากกว่าข่าวจริง เพราะข่าวพวกนี้น่าสนใจกว่าข่าวจริง เขียนในสิ่งที่คนอยากรู้ โดยไม่สนใจข้อเท็จจริง และความถูกต้อง

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บอกว่า สถานการณ์ข่าวปลอมในประเทศไทยมีมากขึ้น เพราะมีสื่อโซเชียลมีเดียเป็นสื่อกลางในส่งต่อข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะข่าวการเมือง ที่อาจจะมีบางกลุ่มหวังผลประโยชน์จากการสร้างข่าวปลอมเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง ช่วงนี้ข่าวการเมืองจะได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นพิเศษ จึงทำให้ข่าวปลอมมีพลังมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา  

สงคราม "Fake News" สังคมไทยจะตั้งรับได้อย่างไร


ขณะที่รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดตั้งศูนย์ป้องกันข่าวปลอม ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  แต่ต้องไม่ไปจำกัดสิทธิการสื่อสารของคนไทยให้น้อยลง เพราะฉะนั้นหน่วยงานภาครัฐต้องต้องระดมทุกฝ่ายมาร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้ 

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลบ่า ประชาชนเป็นทั้งผู้รับข่าวและผู้ผลิตข่าว อาจจะต้องใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลหรือส่งข้อมูลให้มากขึ้น โดยเฉพาะการรู้เท่าทันสื่อ การตรวจสอบ  การเช็คข้อมูลรอบด้าน  ที่สำคัญต้องรู้เท่าทันอคติของตนเองก่อนที่จะกดไลค์หรือกดแชร์ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเป็นเครื่องมือของขบวนการสร้างข่าวปลอม 

logoline