svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สทนช. นำร่องศึกษาโครงการสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ SEA พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง

16 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สทนช. บูรณาการทุกภาคส่วน เร่งศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง มั่นใจจะได้ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำภายในก.พ.63 หวังใช้เป็นต้นแบบบริหารทรัพยากรน้ำในทุกลุ่มน้ำให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

วานนี้ 15 ส.ค. 62 - นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่บริเวณแม่น้ำสะแกกรัง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ศึกษาวิถีชีวิตของชาวริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง พร้อมร่วมพูดคุยรับฟังสภาพปัญหา และการปรับตัวในการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับลักษณะกายภาพของพื้นที่


นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. กล่าวว่า ลุ่มน้ำสะแกกรัง มีพื้นที่ 4,911.48 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ อุทัยธานี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร เป็นลุ่มน้ำที่มีความโดดเด่นแห่งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ธรรมชาติ และเกษตรกรรม แต่มักประสบปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำ อยู่เป็นประจำ โดยพื้นที่ของลุ่มน้ำแต่ละส่วนมีปัญหาที่แตกต่างกัน ตามลักษณะทางกายภาพของลุ่มน้ำและวิถีชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่ 

สทนช. นำร่องศึกษาโครงการสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ SEA พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง

ซึ่งลักษณะทางกายภาพของลุ่มน้ำสะแกกรังสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน มีลักษณะเป็นพื้นที่สูงชัน มีสภาพป่าไม้อุดมสมบูรณ์ พื้นที่ลุ่มน้ำตอนกลาง มีลักษณะเป็นรูปคลื่น เนื้อดินร่วนปนทรายไม่อุ้มน้ำ ทำให้พื้นดินมีความแห้งแล้ง เกิดการกัดเซาะพังทลายสูง และเกิดตะกอนทับถมจนตื้นเขินไม่สามารถระบายน้ำได้ ตลอดจนแหล่งเก็บกักน้ำและระบบกระจายน้ำมีไม่เพียงพอ จึงมักประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่เสมอ และพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม เป็นจุดรวมของลำน้ำสาขาต่างๆ อีกทั้งมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ เกิดตะกอนในลำน้ำทำให้ตื้นเขิน รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมักเกิดปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การใช้สารเคมีในพื้นที่การเกษตร การขาดแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ด้านบนที่จะช่วยระบายน้ำมาเจือจางและผลักดันน้ำเสียในช่วงฤดูแล้ง


ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำสะแกกรัง จะต้องพิจารณาองค์รวมเพื่อให้เกิดความสอดคล้องร่วมกันระหว่างพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในอดีตที่ผ่านมา การวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง จะพิจารณาจากมุมมองของภาครัฐเป็นรายโครงการหรือเฉพาะด้าน ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และขาดการพิจารณาผลกระทบต่อเนื่องที่มีต่อภาคส่วนอื่นๆ จนส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ สทนช. ในฐานะองค์กรหลักด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ได้บูรณาการแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจัดให้มีการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม และแนวทางพัฒนาและบริหารจัดการน้ำที่สามารถนำไปสู่ความสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเปรียบเทียบทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ


"สทนช. คาดว่าจะสามารถจัดทำโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งผลลัพธ์ของการศึกษาจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรังที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสังคมและข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ลุ่มน้ำ และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง โดย สทนช.จะนำผลการศึกษาที่แล้วเสร็จ เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณา และใช้ประกอบการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังต่อไป โดยหวังให้เป็นต้นแบบต่อยอดขยายผลไปใช้เป็นทิศทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์น้ำของประเทศอย่างเป็นระบบและยั่งยืน" ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. กล่าว

logoline