svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

IRPC เดินหน้าพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน

15 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

IRPC ชูทิศทางดำเนินธุรกิจ เดินหน้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจหลัก ต่อยอดธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อผู้บริโภคและโลกยั่งยืน พร้อมดำเนินการตามแผนงาน IRPC 4.0 ตั้งเป้าเป็นผู้นำทางด้าน Digital ด้วยการบูรณาการระบบดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร ร่วมลงทุนจีนขยายปีกสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขายเม็ดพลาสติกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ "PLASTKET.COM"

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยถึงทิศทางและแผนการดำเนินธุรกิจว่า "เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง IRPC มีความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ High Value Added Products (HVA)  ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนงาน IRPC 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ GDP เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รับมือกับสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน  รวมถึงขยายส่วนแบ่งผลิตภัณฑ์ในตลาดอาเซียนให้มากขึ้น"  


ปัจจุบันศูนย์นวัตกรรมฯ มีโครงการวิจัย ประมาณ 60 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากำไรส่วนเพิ่มประมาณ 940 ล้านบาท รวมทั้งการให้ความสำคัญในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นกลไกในการขับเคลื่อน สร้าง New S-curve ที่มีความสามารถในการเติบโตต่อไปในอนาคตสูง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทฯ 


ที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรมฯ ดังกล่าวสามารถวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาดได้แล้ว 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์ พีพี คอมปาวด์เกรดพิเศษ (PP Compound)  นำมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งภายในและภายนอกรถยนต์รุ่น FOMM ONE ของบริษัท  FOMM Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้ 90% เป็นผลิตภัณฑ์ PP Compound ของ IRPC คิดเป็นน้ำหนัก 24.6 กิโลกรัม จากชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้ทั้งหมด 27 กิโลกรัม  และ HDPE Specialty (High Density Polyethylene) เกรดพิเศษ ที่ออกแบบให้เนื้อพลาสติกเป็นสีเทาใช้เป็นทุ่นโซลาร์ลอยน้ำที่ช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนของประเทศ โดย IRPC มองถึงการต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) 


นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มแล้ว IRPC ยังได้มีการบริหารจัดการเรื่องกระบวนการผลิต เพื่อขจัดการสูญเสีย (Zero Waste) โดยสามารถนำ Waste Polymer กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ กล่องนาฬิกา แบรนด์เนม และกล่องจิวเวลรี่ เป็นต้น ตลอดจนการขยายความร่วมมือกับลูกค้า น้ำมันจากขยะพลาสติกแปรรูป  300,000 - 400,000 ลิตร/เดือน ที่ผ่านเทคโนโลยีทันสมัย "ไพโรไลซิส" ได้น้ำมันดิบที่มีคุณภาพมาตรฐาน ลดปริมาณขยะได้ 560 ตัน/เดือน
"ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่ออกสู่ตลาดนั้น ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี  นับเป็นผลสำเร็จ ผลักดันให้ IRPC เร่งเดินหน้าการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ที่นอกจากจะมาช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหลัก คือ ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี รักษาและขยายส่วนแบ่งของผลิตภัณฑ์ในตลาดแล้ว ยังสามารถแสวงหาโอกาสต่อยอดธุรกิจใหม่  ตอบโจทย์ความยั่งยืน และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะสร้างการเติบโตให้แก่ IRPC ในระยะยาวอีกด้วย" 


สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการ IRPC 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ GDP นายนพดล ระบุว่า "ขณะนี้ IRPC ได้มุ่งเน้นการดำเนินการด้าน Power of Digital เพื่อผลักดันให้ IRPC เป็น Petrochemical Complex ชั้นนำทางด้าน Digital ด้วยการดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่  1. การบูรณาการระบบดิจิทัลเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในขั้นตอนธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั่วองค์กรทั้ง 5 ด้าน ได้แก่  1.1 OPS 4.0 ประกอบด้วย 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการ "EKONS" ระบบที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพแบบเรียลไทม์ โดยสามารถวัดและติดตามสถานะของตัวชี้วัดหรือ KPI ของแต่ละโรงงาน โครงการ Predictive Maintenance ช่วยคาดการณ์และกำหนดเวลาที่เหมาะสมในการซ่อมบำรุงล่วงหน้า พร้อมประเมินแนวโน้มการเบรกดาวน์ ของอุปกรณ์สำคัญ ซึ่งจะช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานเครื่องจักร ลดค่าซ่อมบำรุงในอนาคต และเพิ่มระยะเวลาการปฏิบัติการของโรงงานให้สูงขึ้น 1.2 ISC 4.0 หรือระบบซัพพลายเชน ที่นำระบบดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนระบบจัดการข้อมูลจาก Crude supply  ไปจนถึงปรับปรุงขั้นตอนการจัดส่งสินค้าให้เป็นระบบมากขึ้น มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างระบบต่างๆ และช่วยให้การตัดสินใจทางด้านซัพพลายเชนมีประสิทธิผลมากขึ้น 1.3 CCM 4.0 ระบบ Big Data วิเคราะห์ความต้องการของตลาด 1.4 PRO 4.0 ระบบเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนจัดซื้อ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านต้นทุน 1.5 ERP 4.0 การเปลี่ยนแปลงการจัดการข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ขององค์กร ระบบดังกล่าวนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท (50 ล้านเหรียญสหรัฐ)


และ 2. การขยายการลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ภายใต้แพลตฟอร์ม "พลาสเก็ตดอทคอม (PLASTKET.COM)"  เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (ถือหุ้น 55%) และบริษัท Guangzhao Saiju Performance Polymer Ltd. ("GZSJ") (ถือหุ้น 45%) จากจีน โดยแพลตฟอร์มนี้จะจำหน่ายเม็ดพลาสติกจากทุกแบรนด์ ไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ของ IRPC และในกลุ่ม ปตท. ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการพลาสติก SMEs ทั่วประเทศเข้ามานำเสนอ จำหน่าย ซื้อขายสินค้าได้อย่างปลอดภัยและโปร่งใส"


อย่างไรก็ตาม IRPC ยังคงให้ความสำคัญกับแผนการลงทุนระยะยาวในโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (MARS: Maximum Aromatics Project) กำลังการผลิตพาราไซลีน 1 1.3 ล้านตันต่อปี และเบนซีน 3 5 แสนตันต่อปี ประมาณการการลงทุนมูลค่า 4 หมื่น    ล้านบาท ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA)  จากการพิจารณาอย่างรอบคอบเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน ส่งผลให้โครงการเลื่อนออกไปจากแผนเดิมที่จะแล้วเสร็จในปี 2566 เป็นปี 2567 ซึ่งไม่ ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมโครงการมากนัก เนื่องจากในปีที่โครงการแล้วเสร็จภาวะตลาด และประมาณการส่วนต่างราคา พาราไซลีนยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่


สำหรับการขยายโอกาสส่งออกตามทิศทางของตลาดโลก ปัจจุบัน IRPC สามารถจำหน่ายน้ำมันเตากำมะถันต่ำ 15,000 ตัน เป็นรายแรกของประเทศไทย ก่อนปี 2563 นโยบายขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการเดินเรือสมุทร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เนื่องจาก IRPC เป็นโรงกลั่นเดียวในประเทศที่มีหน่วยกำจัดกำมะถันในเรสซิดิว หรือ Residue Hydro Desulphurization Unit  ที่พร้อมจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมการเดินเรือสมุทร

จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ IRPC ยังคงรักษาความสามารถในการผลิตที่เป็นเลิศในระดับ Top Quartile ทั้งปิโตรเลียมและปิโตรเคมี พัฒนานวัตกรรม สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) และเดินหน้าขยายส่วนแบ่งผลิตภัณฑ์ในตลาดอาเซียนให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนงาน IRPC 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ GDP เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายการลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ภายใต้แพลตฟอร์ม PLASTKET.COM


ด้วยมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว IRPC สามารถบริหารสภาพคล่องของธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เหมาะสม พิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ สร้างเสถียรภาพทางการเงิน โดยยังคงมีสถานะการเงินที่มั่นคง แข็งแรง   ณ สิ้น ไตรมาส 2 ปี 2562 IRPC มีเงินสดคงเหลืออยู่ที่ 1,915 ล้านบาท มีอัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 0.91 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.63 เท่า และมีงบลงทุนที่มีแผนการดำเนินงานชัดเจน (committed) จำนวน 71,043 ล้านบาท

logoline