svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เตรียมรับมือ​ 'ภัยแล้ง​ 63' หนักพอๆกับปี​ 58

14 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากสิ่งที่เห็นกับตาในวันนี้ ผมสามารถคาดคะเนได้เลยว่า สภาพน้ำที่มีอยู่เท่านี้ จะไม่เพียงพอใช้ในปี 2563 อย่างแน่นอน และปีหน้าเราคง ต้องกลับมาทำข่าวภัยแล้ง ชนิดที่หนักหน่วงและรุนแรง อีกครั้ง...

ท่ามกลางฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ เราถูกมอบหมายให้มารายงานข่าวสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก และเลยขึ้นไปดูหมู่บ้านที่ถูกดินสไลด์รับความเสียหาย

ในเวลาไล่เลี่ยกัน น้ำป่าจากดอยอินทนนท์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ไหลเข้าท่วมชุมชน พื้นที่ที่เราขึ้นไปทำข่าวครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปิง ที่ไหลลงเขื่อนภูมิพล ฝนที่ตกลงมาติดต่อกันนานนับสัปดาห์ ด้านหนึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่ แต่อีกด้านหนึ่งก็ช่วยเติมน้ำในเขื่อน

จริงอยู่ที่ฝนตกติดต่อกันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วยเติมน้ำในเขื่อน แต่ก็อย่าลืมว่า 'ฤดูฝน' ควรจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่ง 2 เดือนเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ฝนทิ้งช่วงไป ทำให้เขื่อนเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้เก็บน้ำ

เวลานี้จึงเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีน้ำไหลเข้าเขื่อน หลังจากนั้นคือวิกฤตภัยแล้งที่จะตามมา...

หลังจากรายงานข่าวฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ เราเดินทางไปดูสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล ว่ายังพอมีความหวังบ้างหรือไม่ ปรากฏว่าเราพบข้อมูลที่น่าตกใจเพราะหากเปรียบเทียบกันกับปีที่แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เขื่อนมีน้ำน้อยกว่าถึง 6 เท่า ปีที่แล้วมีปริมาณน้ำใช้การถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปีนี้มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยล่วงเลยมาถึงปลายฤดูฝนที่จะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมนี้แล้ว

ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล บอกกับเราว่า ในช่วงสิ้นฤดูฝน อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีน้ำใช้การได้มากถึง 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 20% หากไต่ไปไม่ถึงระดับนี้ ฤดูแล้งปีหน้าก็จะไม่ต่างกับปี 2558 ที่นอกจากจะไม่เพียงพอในการส่งน้ำไปเพื่อการเกษตรแล้ว อาจจะกระทบถึงน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค การผลิตน้ำประปาด้วย

เพื่อฉวยโอกาสในการเก็บน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้มากที่สุด เขื่อนภูมิพลจึงลดการระบายน้ำลงจาก 25 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือเพียง 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

เราเดินทางไล่ลงมา จากแม่น้ำปิง ลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มาดูสถานการณ์น้ำที่เขื่อนทดน้ำ เจ้าพระยา ซึ่งจะต้องผันน้ำเข้าไปทางคลองฝั่งซ้าย ฝั่งขวาเพื่อการเกษตร ที่ครอบคลุม 5 จังหวัด กินพื้นที่กว่า 2.6 ล้านไร่

แม้จะอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนแต่สถานการณ์ที่นี่ ก็น่ากลัวไม่แพ้กัน เพราะระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 1 เมตร และ ต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วยผันน้ำเข้าคลองทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เพราะตอนนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ต่ำกว่าปากคลอง

โชคดีที่ชาวนาส่วนใหญ่ อยู่ในช่วงใกล้เกี่ยวข้าวที่กำลังออกรวง ตอนนี้ยังพอมีน้ำให้ใช้ เพราะมีน้ำฝนที่ตกลงมาบ้าง หลังสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนานี้ในเดือนในสิ้นเดือนสิงหาคม ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 แจ้ง ชาวนางดปลูกข้าวรอบใหม่ เพราะจะไม่มีน้ำส่งให้อย่างแน่นอน

ด้วยวัยเพียง 26 ปี ผมไม่รู้ว่าในอดีต นักข่าวยุคก่อนต้องทำข่าวน้ำท่วม กับน้ำแล้งไปพร้อมๆกันหรือไม่ แต่มันเกิดขึ้นแล้วในยุคของผม ยุคที่ภัยธรรมชาติแปรปรวนหนักมากขึ้น

จากสิ่งที่เห็นกับตาในวันนี้ ผมสามารถคาดคะเนได้เลยว่า สภาพน้ำที่มีอยู่เท่านี้ จะไม่เพียงพอใช้ในปี 2563 อย่างแน่นอน และปีหน้าเราคง ต้องกลับมาทำข่าวภัยแล้ง ชนิดที่หนักหน่วงและรุนแรง อีกครั้ง...

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #vajiravitdaily #Nation #NationTV

logoline