svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชุมชนลุ่มน้ำโขงหวั่นประมงล่มสลาย ชี้รายได้ขายปลาสดเฉลี่ย 2 หมื่น บาท/ครอบครัว/ปี

14 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้แทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน เผยข้อมูลสำคัญจากการสำรวจมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการประมงของชาวบ้าน ๑๖ ตำบลในปี ๒๕๕๔ และ ๒๕๕๖ พบว่าในจำนวน ๖๕๕ ราย มีรายได้จากการขายปลาสดเฉลี่ย ๒๐,๖๕๘ บาทต่อครอบครัวต่อปี ตำบลที่มีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุดคือ ตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย มีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ ๖๒,๖๕๓ บาท ต่อครอบครัวต่อปี

14 ส.ค. 62 - นางอ้อมบุญ  ทิพย์สุนา ผู้แทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) และคณะกรรมการเครือข่ายฯ ร่วมแถลงข่าวกับกรมประมงในหัวข้อ  "น้ำโขงเปลี่ยนไป ประมงไทยต้องเท่าทัน" ต่อกรณีความผันผวนของแม่น้ำโขง ว่า ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมลุ่มน้ำโขง ๗ จังหวัดภาคอีสาน รวมพื้นที่ ๒๖ อำเภอ ๙๕ ตำบล ๑,๐๕๐ หมู่บ้าน  ได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อความผันผวนของแม่น้ำโขง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา ทั้งนี้ ในปี ๒๕๕๑ ฝนตกหนักในประเทศต้นน้ำ และมีการระบายน้ำจากเขื่อนจนท่วมพื้นที่ภาคอีสานในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ ทั้งที่มีฝนในพื้นที่ตกน้อยมาก ในครั้งนั้นมีการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นในพื้นที่สมาชิกเครือข่าย ๖๔ แห่ง ๗๕๖ หมู่บ้าน ๑๒๐,๐๓๗ ครัวเรือน พบความเสียหายตลอดแนวโขง ๕๖๐ หมู่บ้าน ๑๙,๕๓๒ ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก ๑๗๙,๕๒๒ ไร่ พื้นที่การประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ๑๒,๕๒๓ ไร่  ไม่รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดกับบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การประปา สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า สิ่งปลูกสร้างสาธารณะ ตลิ่งทรุดพัง และอุทกภัยที่เกิดต่อเนื่องในพื้นที่ลำน้ำสาขา ห้วย หนอง คลอง บึง ตลอดแนวฝั่งโขง ซึ่งพบว่ามีความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวได้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งในปี ๒๕๕๓ ที่แม่น้ำโขงแห้งขอดในรอบ ๔๐ ปี เนื่องจากมีการปิดเขื่อนในประเทศต้นน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ ในปี ๒๕๕๖ ช่วงวันที่ ๑๖-๒๓ ธันวาคม เกิดเหตุการณ์น้ำโขงเอ่อท่วมในฤดูหนาว โดยปรากฏชัดเจนว่าไม่มีฝนตกในพื้นที่แต่อย่างใด ทางเครือข่ายฯ สุ่มสำรวจข้อมูลจากประชาชนริมโขงจำนวน ๑๕๘ ราย ซึ่งประกอบอาชีพประมง ทำเกษตรริมโขง และเลี้ยงปลากระชัง ในเขต ๔ จังหวัด หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร อำนาจเจริญ สามารถประเมินความเสียหายรวมประมาณ ๗,๑๔๓,๓๗๕ บาท ปรากฎการณ์น้ำโขงที่ขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาตินี้ ยังไม่รวมน้ำเขื่อนท่วมน้ำโขง ที่เกิดในฤดูฝนปี ๒๕๖๑ ซึ่งมีฝนตกหนักในประเทศเพื่อนบ้าน และเขื่อนในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงปล่อยน้ำลงแม่น้ำโขงจนเกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นระยะเวลา ๑-๒ เดือน ในเขตพื้นที่หนองคาย โดยเฉพาะปากน้ำงึม อ.โพนพิสัย  บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี โดยปรากฎข่าวตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอไปแล้วนั้น และเหตุการณ์ล่าสุดที่น้ำโขงแห้งหน้าฝน และเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว โดยมีกรมประมงเป็นหน่วยงานแรกที่ลงพื้นที่รับฟังสภาพปัญหา

ชุมชนลุ่มน้ำโขงหวั่นประมงล่มสลาย ชี้รายได้ขายปลาสดเฉลี่ย 2 หมื่น บาท/ครอบครัว/ปี

ถึงแม้ว่า เราจะต้องหาคำตอบจากการบริหารจัดการน้ำที่ยังขาดระบบร่วมในประเทศที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกันใน ๖ ประเทศ แต่ผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้น ได้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศย่อยที่มีความสลับซับซ้อนของแม่น้ำโขงอย่างยิ่งยวด ผลการศึกษาวิจัยไทบ้าน ที่เครือข่ายฯ ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนา เราค้นพบนิเวศย่อยในพื้นที่ ๒๔ ตำบล ๗ จังหวัดที่ทำการศึกษา มี ๒๒ ระบบนิเวศย่อย  พบชนิดพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำอย่างน้อย ๑๕๘ ชนิด ชุมชนยังคงพึ่งพาแม่น้ำโขงในระดับที่สูง ทั้งความมั่นคงทางอาหาร รายได้ของครอบครัว ความผูกพันทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการทำการประมง การปลูกพืชริมฝั่ง การทำนา การท่องเที่ยว การค้าชายแดน การร่อนทอง การเลี้ยงปลากระชัง การเพาะพันธุ์ปลาโดยใช้น้ำจากแม่น้ำโขง 
ข้อมูลสำคัญจากการสำรวจมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการประมงของชาวบ้าน ๑๖ ตำบลในปี ๒๕๕๔ และ ๒๕๕๖ พบว่าในจำนวน ๖๕๕ ราย มีรายได้จากการขายปลาสดเฉลี่ย ๒๐,๖๕๘ บาทต่อครอบครัวต่อปี  ตำบลที่มีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุดคือ ตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย มีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ ๖๒,๖๕๓ บาท ต่อครอบครัวต่อปี ขณะที่ตำบลชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดเท่ากับ ๒,๕๖๑ บาทต่อครอบครัวต่อปี  ไม่รวมตัวเลขที่ชุมชนริมโขงได้จากการขายปลาแห้ง ปลาร้า  ผลการศึกษาบันทึกจากการจับปลารายวันของชาวประมงแม่น้ำโขงจำนวน ๔๑ ครอบครัวในจังหวัดอุบลราชธานี ๕ หมู่บ้านได้แก่ บ้านหินโหง่น บ้านนาทราย บ้านปากห้วยม่วง บ้านสำโรง บ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร ในปี ๒๕๕๔  พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของการบริโภคปลาที่จับได้ มีมูลค่า ๓๑๓,๘๘๑ บาทต่อปี หรือเฉลี่ยครัวเรือนละ ๗,๖๕๖ บาทปี นั่นหมายถึงแม่น้ำโขงเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของชุมชนที่คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึง ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงชนิดของปลาที่จับได้ในแต่ละฤดูกาล สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างปลากับฤดูกาล และการไหลของน้ำตามธรรมชาติ สะท้อนถึงการบริการของระบบนิเวศที่ต่างทำหน้าที่และพึ่งพาอาศัยกัน และในปี ๒๕๖๒ นี้ เครือข่ายฯ ร่วมกับกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขงและมูลนิธิการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการโครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะ บนฐานความมั่นคงทรัพยากรทางอาหาร และทรัพยากรธรรมชาติ ในลุ่มน้ำโขง และความสามารถปรับตัวจากปัจจัยเสี่ยงด้านภัยพิบัติ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ได้ดำเนินงานเพิ่มอีก ๒๓ ชุมชน ในพื้นที่ ๗ จังหวัด และระหว่างดำเนินงาน ชุมชนก็ประสพภาวะ "น้ำโขงท่วมหน้าแล้งแห้งหน้าฝน" ความผันผวนที่เกิดยากจะคาดเดาและรับมือ ทั้งหมดเป็นเหตุที่ทำให้เครือข่ายฯ ได้มานำเสนอแนวทางการดำเนินงานร่วมกับกรมประมงในวันที่ ๑๔ สิงหาคมนี้ 

ชุมชนลุ่มน้ำโขงหวั่นประมงล่มสลาย ชี้รายได้ขายปลาสดเฉลี่ย 2 หมื่น บาท/ครอบครัว/ปี


ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมประมง โดยการนำของท่านอธิบดี อดิศร พร้อมเทพ ทางเครือข่ายฯ ขอบพระคุณที่ส่งคณะผู้ตรวจราชการ ท่านประเทศ ซอรักษ์ พร้อมท่านที่ปรึกษา ดร.ธนพร  ศรียากูล และคณะ ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่และรับฟังสภาพปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นด้วยท่าที่ที่ห่วงใย แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจและเป็นมิตร อีกทั้งมีการตัดสินใจที่รวดเร็วในการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา และมีแนวทางในการบูรณาการข้อมูล เพื่อพัฒนาระบบเตือนภัยที่ง่ายต่อการเข้าถึงของชุมชน รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูเยียวยาเพื่อช่วยเหลือชุมชนริมโขงในการสร้างแหล่งอาหารสำรอง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายทั้งการจัดทำเขตอนุรักษ์วังปลา การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงแก้ไขแบบสิ่งกีดขวางลำน้ำสาขาเพื่อให้ปลาสามารถไปวางไข่ในลำน้ำรอบในได้ ทางเครือข่ายฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมจะให้ความร่วมมือในการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งมีข้อเสนอต่อกรมประมงเพิ่มเติมในเรื่องการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นให้ทั่วถึงกับพี่น้องริมโขงทั้ง ๘ จังหวัดประเทศไทย  การสนับสนุนงานวิจัยไทบ้านที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลข้อเสนอประกอบการจัดทำแผนแม่บทชุมชนร่วมกับกรมประมงตลอดพื้นที่แนวโขง อันเป็นรากฐานสำคัญในการป้องกัน แก้ไขปัญหา รวมทั้งมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาตามแนวทางประชารัฐในระยะยาว  เครือข่ายฯ มีความเชื่อมั่นว่า งานที่เราจะดำเนินการกับกรมประมงครั้งนี้ จะมีความหมายมากกว่า "การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ หรือการปล่อยปลา" แต่เราจะดำเนินงานบนพื้นฐานการวิจัย การเคารพองค์ความรู้ของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ พัฒนาความรู้ความเข้าใจของชุมชนให้มีความตระหนัก มีส่วนร่วม และมีความพร้อมในการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมภายใต้แผนแม่บทชุมชนคนริมโขงร่วมกับกรมประมงและยกระดับสู่แผนความร่วมมือในระดับภูมิภาคในอนาคตอันใกล้

logoline