svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

9 พรรคเล็กชื่นมื่น แบ่งเก้าอี้นั่งผู้ช่วย รมต.

14 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐบาลสยบปัญหาพรรคเล็กไปได้ชั่วคราว เมื่อวานมีการแถลงข่าวชื่นมื่น 9 พรรค รับตำแหน่งทางการเมืองกันถ้วนหน้า ยกเว้น "พี่เต้ พระราม 7" แห่งพรรคไทยศิวิไลย์ ซึ่งข่าววงในบอกว่า ออกตัวแรงเกิน ถอยกลับไม่ได้ ก็เลยได้ไปเป็น"ฝ่ายค้านอิสระ"สมใจ มีพรรคเดียว คนเดียว แถมเป็นประธานวิปเอง

สำหรับตำแหน่งทางการเมืองที่แกนนำ 9 พรรคเล็กได้รับ ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก แกนนำหรือหัวหน้าพรรคที่ได้เป็น ส.ส. (พรรคเหล่านี้มี ส.ส.คนเดียว) ตัดสินใจลาออกจาก ส.ส.เพื่อรับตำแหน่งเอง ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย พลตรีทรงกลด ทิพย์รัตน์ ลาออกจาก ส.ส.รับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี (เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ) 

9 พรรคเล็กชื่นมื่น แบ่งเก้าอี้นั่งผู้ช่วย รมต.


พรรคประชาภิวัฒน์ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ลาออกจาก ส.ส.รับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (เป็นผู้ช่วยของ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ) พรรคพลังไทยรักไทย นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ลาออกจาก ส.ส. เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พรรคประชานิยม พลตำรวจเอกยงยุทธ เทพจำนงค์ ลาออกจาก ส.ส. เพื่อรับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี (เป็นผู้ช่วย พลเอก ประวิตร เช่นกัน) และ พรรคประชาธรรมไทย นายพิเชษฐ สถิรชวาล ลาออกจาก ส.ส. รับตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย


กลุ่ม 2 มี 4 พรรค ส.ส.ของพรรคไม่ลาออก จึงส่งบุคคลอื่นเข้ารับตำแหน่งแทนในโควต้าพรรค ประกอบด้วย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน นายสรสินธุ ไตรจักรภพ เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ พรรคพลเมืองไทย นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงกลาโหม พรรคประชาธิปไตยใหม่ นายนิพนธ์ ชื่นตา เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย และพรรคพลังธรรมใหม่ นายนิทัศน์ รายยวา เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน 

9 พรรคเล็กชื่นมื่น แบ่งเก้าอี้นั่งผู้ช่วย รมต.


สำหรับสาเหตุที่แกนนำพรรคต้องลาออกจาก ส.ส.หรือส่งนอมินีมานั่งเก้าอี้แทน ก็เพราะต้องการป้องกันปัญหา ส.ส.ที่ห้ามรับตำแหน่ง "ข้าราชการการเมือง" ซึ่งตามกฎหมายมีอยู่ 20 ตำแหน่ง ยกเว้นนายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีเท่านั้นที่เป็นได้ ส่วนพวกเลขาฯรัฐมนตรี ที่ปรึกษา โฆษก เป็นไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนห้ามเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 184 

ส่วนตำแหน่ง "ผู้ช่วยรัฐมนตรี" จริงๆ แล้วเคยมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าไม่ใช่ตำแหน่ง "ข้าราชการการเมือง" แต่เป็น "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ซึ่งต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่เพื่อความชัวร์ และป้องกันการยื่นตีความตามมาอีก รัฐบาลจึงตัดสินใจไม่ให้ ส.ส.รับตำแหน่ง "ผู้ช่วยรัฐมนตรี" ด้วย ทำให้แกนนำพรรคเล็กที่จะรับตำแหน่ง ต้องลาออก ถ้าไม่ลาออก ก็ส่งนอมินีมาแทน ตามที่กล่าวมา

logoline