svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชุมชน​ Zero​ Waste​ ปลอดขยะ​ 0% ทำได้จริงหรือ?

08 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถุงพลาสติก น่าจะเป็นขยะชิ้นหลักที่เรา สร้างขึ้นในแทบทุกวัน แม้ว่าเราจะปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อแต่สินค้าก็ถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกนานาชนิด ชีวิตประจำวันของคนกรุง จึงแทบหนีไม่พ้นที่จะต้องสร้างขยะในทุกๆวัน แม้จะมีความพยายามลดละเลิกการใช้พลาสติกเพียงไร แต่ก็ดูเหมือนสภาพแวดล้อมบีบคั้น ขยะจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทุกคน

ไม่ง่ายเลยที่คนอาศัยในคอนโดร่วมกับคนหมู่มาก จะประสบความสำเร็จในการแยกขยะ เพราะท้ายที่สุดก็ต้องทิ้งรวมกันอยู่ดี แทบจะมีชุมชนน้อยแห่งหรือหาไม่ได้เลยในกรุงเทพฯ ที่ประสบความสำเร็จในการแยกขยะ



แต่ห่างไกลออกไปจากเมืองหลวง ชุมชนชนบททั่วประเทศตื่นตัวกับการจัดการขยะเป็นอย่างยิ่ง แม้จะไม่ใช่ผู้สร้างขยะจำนวนมาก แต่การมีบ่อขยะในชุมชน กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ "เมื่อไม่มีบ่อขยะ ก็จะต้องไม่มีขยะ"



มีชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ เปลี่ยนวิธีการจัดการขยะ จากการฝังกลบมาเป็นการแยกขยะและนำมารีไซเคิล ซึ่งไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาขยะแต่ยังก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเป็นอาชีพเสริมกับชาวชุมชน



"ชุมชนไผ่กองดิน" จังหวัดสุพรรณบุรี ประสบความสำเร็จเป็นชุมชน Zero Waste แต่กว่าจะมาถึงวันนี้มันไม่ง่ายนัก



นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลไผ่กองดิน "ทีฆโชติ งามถาวรวงษ์" บอกว่า เริ่มนำชุมชนนำร่องเข้าสู่โครงการปลอดขยะหรือ Zero Waste อย่างจริงจังเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังจากประสบปัญหาขยะล้นเทศบาล และไม่มีที่ฝังกลบเป็นของตัวเอง ต้องนำไปฝังกลบในบ่อขยะของจังหวัด จึงชักชวนชาวบ้านให้เริ่มแยกขยะอย่างค่อยเป็นค่อยไป ล่าสุดสุดประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม



นายกเทศมนตรี ตำบลไผ่กองดินบอกว่า นอกจาก ทำให้ปริมาณขยะที่เทศบาลต้องจัดการลดลงอย่างมาก เหลือแต่เพียงกำจัดขยะอันตรายที่ต้องจัดการอย่างถูกวิธีแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านมี "รายได้" เพิ่มจากการคัดแยกขยะและแปรรูปขยะเหลือใช้เป็นของใช้ใหม่ได้อีกครั้งด้วย



ปัจจุบันเทศบาลตำบลไผ่กองดินมีประชากรจำนวน 600 หลังคาเรือน 1,800 คน จำนวนนี้ดำเนินการ ไปแล้ว 50% ของครัวเรือนในเทศบาลทั้งหมด พร้อมตั้งเป้าเป็นเทศบาลปลอดขยะ 0% หรือ Zero Waste ภายในปี 2564



หญิงวัย 60 ปี ยังคงทำงานบ้านอย่างคล่องแคล่ว มากกว่าการทำงานบ้านคือการเก็บรวบรวมขยะมารีไซเคิล "บุญกึ่ง ดวงจันทร์" ประธานชุมชน 3 ตำบลไผ่กองดิน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี บอกว่า หลังจากทำตามคำชักชวนของเทศบาลที่ให้แยกขยะและนำมาใช้ซ้ำ ตนได้นำกล่องสุรา กล่องนม และถุงพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ซักผ้าและน้ำยาปรับผ้านุ่ม นำมาแปรรูปเป็นหมวก โมบายตกแต่งบ้าน และกระเป๋า ซึ่งมีตลาดรับซื้อมีทำให้มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นมาอีกราว 4,000 บาทต่อเดือน



บ้านที่อยู่ติดกัน กับป้าบุญกึ่ง "ลุงประจวบ กลั่นศรี" วัย 71 ปี ชาวบ้านชุมชน 1 ตำบลไผ่กองดิน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจะแยกขยะทั่วไปแล้ว ยังแยกขยะอินทรีย์เช่นขยะจากเศษอาหาร ออกมา นำไปเลี้ยงไส้เดือนขาย



การเลี้ยงไส้เดือนจากเศษอาหาร แทบไม่มีต้นทุนอะไรเลย ทั้งยังมีรายได้จากการขายไส้เดือน กิโลกรัมละ 25 บาทหรือ 4 กิโลกรัม 100 บาท ต่อเดือนมีรายได้จากการขายไส้เดือน 2000-3000 บาท



ไม่เพียงแต่การจัดการขยะเท่านั้น เนื่องจากเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำลำคลอง จึงให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำเสีย ซึ่งเป็นแนวคิดต่อยอดจากชาวเอง ด้วยการนำโอ่งใบใหญ่ มาเป็นที่พักน้ำเสีย แล้วนำน้ำที่เหลือทิ้งจากซักผ้านำมารดน้ำต้นไม้อีกด้วย



ความพยายามในการแยกขยะ ของชาวชุมชนไม่ได้เกิดจากการตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนหรือขยะล้นเมือง แต่เกิดจากการจัดการขยะที่ถึง "ทางตัน" เมื่อบ่อขยะไม่เป็นที่ต้องการของชุมชน พวกเขาไม่มีทางเลือกที่จะต้องเปลี่ยนชุมชน เป็น "ชุมชนปลอดขยะ" ในที่สุด



การเป็นชุมชนปลอดขยะนอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังจะเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ชุมชนเหล่านี้ประสบความสำเร็จ คือ "การมีรายได้เพิ่มจากขยะที่ไร้ค่า" ซึ่งที่เป็นจุดขายสำคัญ ของชุมชนไร้ขยะ ที่รัฐควรส่งเสริมอย่างจริงจัง ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ



#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline