svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

นักวิชาการแนะใช้พรบ.จราจรทางบกอย่างเข้มงวดลดอุบัติเหตุ

08 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการ ระดมสมองร่วมผลักดันลดอุบัติเหตุการใช้รถใช้ถนนเป็นวาระแห่งชาติ ด้านผู้เสวนาทนายดังและอดีตสนช. เสนอให้มีการบังคับใช้พ.ร.บ.จราจรทางบกและพ.ร.บ.แอลกอฮอล์ให้เกิดประสิทธิภาพควบคู่กับการสร้างวินัยจราจร

สมาคมนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดเสวนาทางวิชาการเนื่องในวันรพี หรือวันบิดาแห่งกฎหมายไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี  โดยการเสวนาจัดขึ้นในหัวข้อ "กฎหมาย..ยาแรงลดอุบัติเหตุ?  ทำไมลดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ได้กับความท้าทายการบังคับใช้กฎหมาย"  ซึ่งผู้เสวนาประกอบด้วยพล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการศึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, นายประพันธ์ คูณมี ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมายอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแอลกอฮอล์, นายแพทย์แท้จริง ศิริพาณิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ,นายรณยุธ ตั้งรวมทรัพย์ อดีตรองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และนายปัญญาสิทธิสาครศิลป์ ทนายความหุ้นส่วน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด โดยมีนายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายกรรมการบริหารสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้ดำเนินรายการมีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 400  คน จัดขึ้นณ ห้องประชุม อาคารศรีศรัทธา ตึกคณะรัฐศาสตร์ 2 มหาวิทยาลัยรามคำแหง

                

ทั้งนี้ผู้เสวนามีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลผู้ใช้รถใช้ถนนในด้านของความปลอดภัย ที่มีพระราชบัญญัติหลัก ๆ 2 ฉบับ คือพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกออล์พ.ศ.2551 นั้นแม้จะมีข้อบังคับที่เมื่อทำผิดแล้วก็มีบทลงโทษรุนแรงไม่น้อยไปกว่าในหลายประเทศ แต่ก็มีการปฎิบัติและพฤติกรรมหลายประการที่ทำให้เจตนารมย์ของการร่างและบังคับใช้กฎหมายยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย ยังไม่ลดลงอย่างที่ตั้งใจโดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนของคนไทยเฉลี่ยที่วันละ60 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและน่ากังวลอย่างยิ่งเพราะเป็นสถิติการเสียชีวิตที่มากกว่าโรคภัยที่ร้ายแรง

                


พล.ต.ต.เอกรักษ์ลิ้มสังกาศ กล่าวว่า สถิติการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นสิ่งที่น่ากลัวโดยในส่วนของผู้เสนอและบังคับใช้กฎหมายได้หาวิธีที่จะมาปกป้องแต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพราะแม้กระทั่งนโยบายของรัฐบาลเองก็ยังไม่ถูกบรรจุเป็นเรื่องหลักที่ต้องทำ

                

"ทุกวันนี้มีใครบ้างในแต่ละวันไม่ต้องเดินทางไม่ต้องใช้รถ มีใครมั่นใจได้บ้างว่าต่อให้ขับรถดีแล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุที่ถูกใครก็ไม่รู้มาชน แล้วอย่างดีมายกมือไหว้ ขอโทษว่าเมื่อคืนดื่มหนักรถผมมีประกัน ซึ่งคนตายไปแล้วไม่ฟื้นนะ มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคนอยากให้สังคมตระหนักถึงปัญหานี้" พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าว

                

ทั้งนี้ในส่วนผู้เกี่ยวข้องกับการเสนอและใช้กฎหมายพล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวว่า ได้มีการศึกษาและปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่องซึ่งเรื่องหนึ่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่นานคือการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก อาทิการกำหนดให้มีระบบบันทึกคะแนนความประพฤติของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ที่หากทำผิดจนถูกตัดคะแนนไปจนหมด จะถูกพักใช้ใบขับขี่ครั้งละ 90 วันและถ้าทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี จะถูกเสนอให้สั่งเพิกถอนใบขับขี่

                


นายแพทย์แท้จริงศิริพาณิช กล่าวว่า เป็นผู้รณรงค์เรื่องเมาไม่ขับมากว่า 20 ปีเคยคิดเลิกสิ่งที่ทำมาครั้งหนึ่งเมื่อสิบปีมาแล้ว ด้วยเหตุที่ถูกคนเมาสุราขับรถชนแต่เมื่อมาคิดให้ดีว่า ขนาดมีการรณรงค์แล้วอุบัติเหตุยังเกิดขึ้นได้กับตัวเองแล้วถ้าไม่ทำเลยเหตุการณ์จะเลวร้ายไปอีกแค่ไหนซึ่งสิ่งที่ผ่านมาในการร่วมดำเนินการ ไม่ว่าการจัดกิจกรรมหรือการร่วมผลักดันการออกพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ทำได้เพียงส่วนหนึ่งแต่ยังขาดหัวใจหลัก

                

"การที่ยังมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุตัวเลข60 คนต่อวันนั้นผมว่านอกจากทุกท่านต้องไว้อาลัยแล้วยังต้องภาวนาด้วยว่าไม่ให้เกิดกับตัวเองหรือครอบครัวกฎหมายนั้นใช้ได้กับทุกประเทศ แต่ผมบอกได้เลยว่าไม่ใช่กับประเทศไทยเพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์กว่า คือเงิน คดีดัง ๆ เรื่องอุบัติเหตุจราจรมีใครติดคุกบ้างหรือยัง แล้วใครจะกลัวกันนี่คือความเสียหายที่ประเทศเรายังก้าวไม่ข้าม เรากำลังพูดถึงเรื่องความเป็นความตายดังนั้นใครจะรับผิดชอบ ผมว่าก็ต้องให้นายกรัฐมนตรีของประเทศ ไม่ใช่ผมโยนว่าอะไร ๆก็ต้องนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าผู้นำไม่ทำแล้วใครจะทำถ้าไม่เอามาเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลต้องทำ เขียนเป็นนโยบายมาให้ชัดเจนจะเอาอย่างไรเป้าหมายต้องมี" นายแพทย์แท้จริง กล่าว

                

นายรณยุธตั้งรวมทรัพย์ กล่าวว่า การลดอุบัติเหตุนั้นนอกจากกฎหมายซึ่งก็น่าเห็นใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติทุกคนแล้วผู้ใช้รถใช้ถนนก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการปรับพฤติกรรมของตัวเองถึงวันนี้หลายฝ่ายจะเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่แก้ไขปรับกันได้ยากแต่ก็ต้องทำถึงแม้จะไปเห็นผลกับคนไทยในรุ่นหลัง ๆ

                

"อยู่ที่คนอยู่ที่วินัย ความหวังอยู่ที่เยาวชนรุ่นลูกรุ่นหลานที่จะต้องดีขึ้นซึ่งสร้างกันได้ตั้งแต่ในโรงเรียน ต้องมีการสอน มีการอบรม" นายรณยุธกล่าว

                


นายปัญญาสิทธิสาครศิลป์ กล่าวว่า ปัญหาของการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์อยู่ที่การตีความ ซึ่งไปมุ่งกันที่คนขาย แต่ไม่ใช่มุ่งแก้ที่คนเมาเมาแล้วจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไร ยิ่งไปทำผิดแล้วการลงโทษต้องแค่ไหน

                

"อย่างกฎหมายบอกว่าห้ามขาย ห้ามซื้อ แต่ไม่ได้ห้ามคนเมาเข้าไป ก็ไม่ทำให้ตรงกับการไม่เกิดอุบัติเหตุข่าวที่เราเห็นการทำตามกฎหมายคืออะไร ไปตามจับตามร้านต่าง ๆออกกฎหมายมาฉบับหนึ่งเสียเวลากับการตีความไปไม่รู้เท่าไหร่ อย่างมาตรา  32 ในกฎหมายถูกตีความกันเยอะ เรื่องห้ามโฆษณาจนมามีคำวินิจฉัยก็ 8 ปีล่วงไปแล้ว ว่าโฆษณาได้แต่ต้องไม่เป็นไปในเชิงยั่วยุและเชิญชวน แต่ทุกวันนี้ราชการก็ยังไม่ยอมมีคดีความคาราคาซังกันในศาลเต็มไปหมด ซึ่งตัวบทกฎหมายอะไรนั้นถ้ามันไม่ได้ดีอยู่แล้วการบังคับใช้ก็เข้ารกเข้าพงไปอีกอย่างเจตนาเรื่องให้ลดอุบัติเหตุลดการดื่ม มันจึงไม่เกิด" นายปัญญากล่าว

                

นายปัญญากล่าวด้วยว่า เมื่อ พระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลในเรื่องของการป้องกัน ปราบปราม รณรงค์ ให้ลดจำนวนอุบัติเหตุและลดจำนวนผู้ดื่ม ก็ต้องทบทวนแก้ไขซึ่งผู้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้มีจำนวนมากเลย แต่ราชการสุดโต่งเกินไปซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีใครคิดร้ายต่อประเทศ พร้อมปฏิบัติตามและยังเห็นว่า การไปมุ่งนำเทคโนโลยีมาแก้ไข เช่น การติดกล้องคุณภาพสูงการตรวจสอบใบขับขี่ ยังจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามาก รวมถึงเร่งการปลุกจิตสำนึกประชาชน

 

 

               

logoline