svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

อีไอซีประเมินกนง.อาจลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้

07 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีไอซี คาด กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ หลังหั่นไปแล้วล่าสุดมาอยู่ที่ 1.5% จากการส่งออกที่หดตัว อุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลงทุกภาคส่วน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย

ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโส Economic and Financial Market Research, SCBEIC ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด มหาชน กล่าวว่า อีไอซีได้วิเคราะห์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จาก 1.75% เป็น1.50% สะท้อนได้ว่ากนง. น่าจะใช้มาตรการ macro และ micro prudential เป็นหลักในการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน โดยอีไอซีมองว่ากนง. อาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 1 ครั้ง ในปีนี้และปรับคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ลงไปที่ 1.7%-1.8% ณ สิ้นปี 2019 จากเดิม1.9%-2.0%


สำหรับ มติของกนง.ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่1.5% จากการส่งออกที่หดตัว อุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลงทุกภาคส่วน  และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ซึ่งกนง.ประเมิน เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้  และ ต่ำกว่าระดับศักยภาพ  ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่หดตัวมากกว่าที่ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ประเมินไว้เดิมตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง


ด้านอุปสงค์ภายในประเทศ กนง.ประเมินว่า มีแนวโน้มชะลอลงทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้และการจ้างงานที่ลดลงอีกทั้งการใช้จ่ายภาครัฐยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กนง. ต้องปรับลดดอกเบี้ย คือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีที่มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเร็ว


นอกจากนี้ กนง.ยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากและยังให้ติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง.ประเมินว่าภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายแต่แสดงความกังวลต่อสถาณการณ์ค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจในสภาวะที่การกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น รวมไปถึงยังกล่าวว่า"อาจดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น"ส่วนในด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ยังคงติดตามเรื่องการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนการขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่


อย่างไรก็ตามอีไอซีมองว่ากนง. อาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 1 ครั้ง (25 bps) ในปีนี้จากปัจจัยดังต่อไปนี้ 1.ความเสี่ยงและผลกระทบของสงครามการค้ามีเพิ่มสูงขึ้นหลังสหรัฐฯ ประกาศเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ารวม 3แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ 10% ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้โดยจีนได้ออกมาตรการตอบโต้ด้วยการห้ามไม่ให้รัฐวิสาหกิจและสถาบันของรัฐนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯอีกทั้ง ล่าสุดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจีนเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน (currencymanipulator) แม้จีนจะยังไม่เข้าทั้ง 3 เกณฑ์ทำให้ภาวะความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนยิ่งซบเซาลง โดยอีไอซีประเมินว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออกท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนมีสูงขึ้น นอกจากนี้ความเสี่ยงของสงครามการค้าที่สูงขึ้นน่าจะทำให้ธนาคารกลางของทั้งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติม(รูปที่ 1) ซึ่งจะทำให้แรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทยังมีอยู่ต่อไป


2.แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐอาจไม่มากและเร็วพอที่จะชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้าจากการรายงานของสื่อในประเทศอีไอซีคาดว่ารัฐบาลน่าจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตามด้วยงบประมาณที่จำกัด (ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทจากการประเมินของอีไอซี) บวกกับการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าคาดแรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้าต่อภาคการส่งออกท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน


3.ภาวะการเงินไทยอาจยังไม่ผ่อนคลายเพียงพออีไอซีมองว่า แม้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะมีการปรับลดลงค่อนข้างมากแต่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง สะท้อนจาก ดัชนีค่าเงินบาท(NEER) ที่ปรับแข็งค่าขึ้นมาถึง 5.5% ในปีนี้ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทยอีกทั้งมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV measure) ที่ประกาศใช้ไปแล้วยังทำให้การขยายตัวของสินเชื่อชะลอลงการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจึงอาจมีความจำเป็น 

logoline