svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

'อธิรัฐ' สั่งกรมเจ้าท่าเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย

05 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายการดำเนินงานให้กับผู้บริหารกรมเจ้าท่า ในวันที่ 5 สิงหาคม 2562 โดยมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายวิทยา ยาม่วง ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า นายณัฐ จับใจ นายสมชาย สุมนัสขจรกุล นายกริชเพชร ชัยช่วย รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้บริหารกรมเจ้าท่าทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ร่วมประชุม ณ กรมเจ้าท่า นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ได้มอบให้กรมเจ้าท่า (จท.) ดำเนินการ ดังนี้

1. ด้านความปลอดภัยทางน้ำ เน้นความปลอดภัยในทุกด้านเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้บริการทางน้ำ เพิ่มมาตรฐานการดูแลความปลอดภัยทางน้ำทางทะเล ทั้งท่าเรือ เรือ อุปกรณ์ช่วยชีวิตได้มาตรฐานสากล ควบคุมตรวจตราให้เรือทุกลำที่อยู่ในน่านน้ำไทยต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย คนประจำเรือต้องมีมาตรฐานในแต่ละประเภท มีระบบตรวจสอบและติดตามเรือ กองเรือไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกำหนด 
2. ด้านการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทางน้ำกับการขนส่งรูปแบบอื่นและการพาณิชยนาวี พัฒนาการคมนาคมทางน้ำให้เป็นการเดินทางและขนส่งทางเลือกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เชื่อมโยงกับระบบการขนส่งอื่นอย่างไร้รอยต่อ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเมือง โดยมีนโยบายเร่งด่วนเรื่องการยกระดับท่าเรือสาทรเป็นสถานีเรือต้นแบบ และพัฒนาท่าเรือบางสะพานเพื่อขนส่งรถไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะต้องปรับปรุงพื้นที่หลังท่าเรือ บูรณาการกับกรมทางหลวงเพื่อปรับปรุงเส้นทางเข้าออกทางให้มีความสะดวก
3. ด้านการดูแลรักษาสภาพลำน้ำ ให้ จท. พัฒนาลำน้ำและแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ในความดูแล โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ป้องกันอุทกภัย ดูแลสภาพลำน้ำ จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการขุดลอกในพื้นที่วิกฤติเร่งด่วน
4. ด้านการพัฒนากฎหมายทางน้ำ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของ จท. โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และกฎหมายว่าด้วยเรือไทย เพื่อยกระดับกองเรือไทย ท่าเรือไทย คนประจำเรือไทย และการเดินเรือของไทย รวมทั้ง มาตรการสอบสวนและป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำมาตรการป้องกันและรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำเป็นมาตรฐานสากล ให้การเดินเรือมีความปลอดภัยรองรับการตรวจประเมินของ IMO ในปี 2564 และการจัดระเบียบเรือ ท่าเรือ โดยให้ดำเนินการด้วยความละมุนละม่อม
5. ด้านการพัฒนาโครงสร้างองค์กรและการบริหารจัดการ จัดรูปแบบองค์กรใหม่ให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัวและเหมาะสม จัดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างและภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่อยู่ในภูมิภาคให้มีโครงสร้างองค์กรที่สอดคล้องกับภารกิจในการให้บริการประชาชน
6. ด้านการบริหารท่าเทียบเรือที่ก่อสร้างโดย จท. เร่งรัดการหาผู้บริหารท่าเทียบเรือ โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการสรรหาผู้เข้าบริหารท่าเทียบเรือตามผลการศึกษา อาทิ ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด ท่าเทียบเรือประหยัดพลังงาน ตำบลศาลาลอย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่าเทียบเรือคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น7. ด้านการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเร่งรัดให้มีการทำงานตามสัญญาและงวดงาน เบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้จัดทำแผนการปฏิบัติการ แผนงาน โครงการที่สำคัญ โดยจัดทำรายงานความคืบหน้าเสนอกระทรวงฯ เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผน8. การบริหารราชการด้วยระบบการสื่อสาร ระบบดิจิทัลและการพัฒนานวัตกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมาใช้ในการบริหารราชการภายใน จท. พัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (BigData) ในการบริหารราชการของ จท. ที่มีระบบการวิเคราะห์ และแบ่งปันข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้


จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ลงเรือตรวจการณ์ตรวจดูสภาพลำน้ำเจ้าพระยา และท่าสาทร รวมทั้งบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อพัฒนาท่าเรือโดยสารเป็นสถานีเรือ ยกระดับการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีมาตรฐานปลอดภัย สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นอย่างไร้รอยต่อ ปัจจุบันได้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ จำนวน 16 ท่า และอยู่ระหว่างพัฒนาท่าเรือเป็นระบบปิด โดยมีโครงการนำร่อง จำนวน 3 ท่า ประกอบด้วย ท่าสาทร ท่าช้าง และท่าเตียน รวมงบประมาณในการปรับปรุงท่าเรือเป็นระบบปิดทั้งหมด 19 ท่า จำนวน 800 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงท่าเรือเป็นระบบปิดที่สาทร ใช้งบประมาณจำนวน 14 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2564

logoline