svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คมนาคมกำชับรถไฟฟ้าต้องมีพื้นที่ทางเท้า 1.5 เมตร

05 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปลัดกระทรวงคมนาคม ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต สะพานใหม่ คูคต และช่วงแบริ่ง สมุทรปราการ ครั้งที่ 1/2562

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต สะพานใหม่ คูคต และช่วงแบริ่ง สมุทรปราการ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 เวลา 09.30 น. โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม สรุปผลการประชุมดังนี้


1. ที่ประชุมได้ติดตามผลการเดินเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง สมุทรปราการ ซึ่งเปิดให้บริการเดินรถต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีสำโรง ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยมีสถิติผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 70,000 คนต่อวัน และติดตามความพร้อมการเปิดเดินรถช่วงหมอชิต สะพานใหม่ คูคต จะเปิดให้บริการจากสถานีหมอชิตถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าว จำนวน 1 สถานี โดยไม่คิดค่าโดยสาร ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนและบรรเทาปัญหาการจราจร 


ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้มอบให้มีการพิจารณาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้โดยสารเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการบริการต่อไป และได้สั่งการเน้นย้ำในการให้ความสำคัญกับพื้นที่ทางเท้าที่ต้องมีอย่างน้อยกว้าง 1.5 เมตร พร้อมทั้งให้เข้มงวดมาตรการรักษาความปลอดภัยในการให้บริการระบบรถไฟฟ้าทั้งภายในสถานีรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า และบริเวณรอบพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า รวมถึงศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าอาคารและลานจอดรถทุกแห่ง


2. พิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงว่าด้วย การจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต สะพานใหม่ คูคต และช่วงแบริ่ง สมุทรปราการ ของ รฟม. ให้ กทม. (เพิ่มเติม ฉบับที่ 1) เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงฯ ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ที่ว่าเมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ รฟม. และ กทม. จะจัดทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมอีกฉบับเพื่อปรับปรุงรายละเอียดของรายการทรัพย์สินโครงการฯ รายการที่ดิน รายการภาระทางการเงิน รายการบัญชีคดีความ และรายการภาระผูกพันกับหน่วยงานอื่น 
3. ติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดมาตรฐานในการให้บริการระบบขนส่งทางราง ทั้งในด้านความปลอดภัย การอำนวยความสะดวก และด้านอื่น ๆ และแนวทางการบูรณาการให้การบริการระบบขนส่งทางรางร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น รวมถึงการจัดทำโครงการพัฒนาที่ดินของ รฟม. ที่ได้จากการเวนคืนให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่บริเวณอาคารจอดแล้วจรของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

logoline