svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

'EEC'​ แผ่นดินเปื้อนน้ำตา​ บนรอยยิ้มของกลุ่มทุน

05 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การออกมาเรียกร้องหน้าทำเนียบรัฐบาลก็เป็นกิจกรรมชั่วคราว แต่วันแล้ววันเล่าที่รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ได้กลุ่ม CP มาเป็นเจ้าของโครงการ สนามบินอู่ตะเภาก็ได้เอกชนมาประมูลเพื่อที่จะพัฒนาสนามบินแล้ว ถนนก็สร้างเสร็จแล้ว โครงการเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ก็ประมูลหาเอกชน มาเดินหน้าขยายต่อ พร้อมๆกับที่ชาวประมงต้องออกเรือไปไกลขึ้นเพื่อปลาตัวเล็กลง และน้อยลง เหล่านี้ราวกลับจะเป็นภาพสะท้อนของอิทธิพลกลุ่มทุนบนแผ่นดินแม่

การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ มีวาระสำคัญคือการพิจารณาผังเมืองรวมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เอาเข้าจริงแล้วก็ครอบคลุมไปถึง 5 จังหวัดรวมกรุงเทพฯด้วย



วันพรุ่งนี้ เราจะได้เห็นการนัดรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ นำกุ้ง หอย ปู ปลามาจัดเป็นตลาดนัดหน้าทำเนียบรัฐบาล บางส่วนก็จะปิ้งย่างรอฟังผลมติที่ประชุมครม.ที่จะผ่านผังเมือง EEC



ผังเมืองซึ่งได้ชื่อว่าไร้การมีส่วนร่วมและถูกคัดค้านจากชาวบ้านอย่างหนัก ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย



หลังจากมีพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พรบ.EEC เพื่อต่อยอด อีสเทิร์นซีบอร์ด ในสมัยพลเอกเปรม ให้รุ่งเรืองโชติช่วงชัชชวาลอีกครั้งในยุคพลเอกประยุทธ์



ชาวบ้าน และกลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออกได้ทำหนังสือคัดค้านผังเมืองดังกล่าว ไปแล้ว 2 ครั้งได้รับการแจ้งกลับมาว่าผังเมืองรวมไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม



ในขณะที่ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวในผังเมืองเดิม ไปเป็นพื้นที่สีม่วงในผังเมืองใหม่ เพื่อเปิดทางให้ภาคอุตสาหกรรม



ผังเมืองEEC ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ที่บางส่วนปลูกข้าว บางส่วนทำบ่อกุ้ง หลังจากนี้ก็จะต้องเปิดทางให้กับการทำโรงงาน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ EEC ชี้แจงว่าอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาในผังเมือง ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น การผลิตนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



ทว่าขึ้นชื่อว่าอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่ไว้วางใจและไม่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม



หลายคนอาจไม่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงผังเมืองจะส่งผลกระทบต่อชีวิตมากเท่าไรนัก ถ้าหากว่าเรามีสิทธิ์ในที่ดินทำกินและถือโฉนดที่ดินอยู่



แต่ในความเป็นจริงแล้วเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกส่วนหนึ่ง ทำเกษตรด้วยการเช่าที่ เช่นการเช่านาเพื่อทำนา



เมื่อพื้นที่กำลังจะถูกเปลี่ยน ให้เป็นอุตสาหกรรม เจ้าของที่ที่เคยให้เช่านา ซึ่งได้ผลตอบแทนไม่มากนัก ก็มีสิ่งล่อตาล่อใจที่จะขายที่ ให้กับนักธุรกิจ ซึ่งให้เงินมากกว่า ดีกว่ายอมที่จะปล่อยที่ไว้เป็นนาข้าวแล้วได้เงินเพียงน้อยนิด



รัฐบาลบอกว่าจำเป็นต้องมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเป็นตัวอย่างนำร่อง ทำเขตพัฒนาพิเศษในจุดต่างๆอีกทั่วประเทศ



เพราะ 'เขตพัฒนาพิเศษ' นี่เป็นทางเลือกเดียวที่จะเพิ่ม GDP ให้เติบโตขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยกินบุญเก่า จากของเดิม โดยที่ไม่สร้างอะไรใหม่ๆ ขับเคลื่อนการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเลย



แต่มุมมองด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็มองข้ามหัวคนตัวเล็กตัวน้อยที่ควรได้รับประโยชน์จากทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม การออกมาเคลื่อนไหวของชาวบ้านด้วยเหตุผลว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจากการทำเกษตรชั้นดี อาจมีมูลค่าสูงพอพอกับเงินจากนักลงทุน แต่คงไม่มีใครฟัง



กุ้งในบ่อ ข้าวในนา ผลไม้ในไร่ จะสร้างเม็ดเงินได้เป็นกอบเป็นกำได้เพียงไร



การออกมาเรียกร้องหน้าทำเนียบรัฐบาลก็เป็นกิจกรรมชั่วคราว แต่วันแล้ววันเล่าที่รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ได้กลุ่ม CP มาเป็นเจ้าของโครงการ สนามบินอู่ตะเภาก็ได้เอกชนมาประมูลเพื่อที่จะพัฒนาสนามบินแล้ว ถนนก็สร้างเสร็จแล้ว โครงการเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ก็ประมูลหาเอกชน มาเดินหน้าขยายต่อ พร้อมๆกับที่ชาวประมงต้องออกเรือไปไกลขึ้นเพื่อปลาตัวเล็กลง และน้อยลง เหล่านี้ราวกลับจะเป็นภาพสะท้อนของอิทธิพลกลุ่มทุนบนแผ่นดินแม่



แผ่นดินที่วันนี้เต็มไปด้วยคราบน้ำตา บนรอยยิ้มของนักลงทุน


#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #VAJIRAVIT #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline