svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดใจ! รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ​ฯ 'จงคล้าย วรพงศธร'​ เ​จาะปัญหาคนกับป่า แนวทางแก้ไขปัญหา​

04 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดแนวคิด ปัญหาคนกับป่าและแนวทางการแก้ไขของรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 'จงคล้าย วรพงศธร' เน้นทำความเข้าใจชาวบ้าน การอยู่ต้องมีเงื่อนไข ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่พื้นที่เอกสารสิทธิ์ จะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้

เมื่อพูดถึง "ป่า" ภาพแรก ๆ ของใครหลายคนคงหนีไม่พ้นภาพของต้นไม้ ภูเขา หรือผืนป่าสลับซับซ้อน ซึ่งนั่นก็ไม่ผิด เพราะประเทศไทยยังคงมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยพื้นที่ป่าของประเทศมากกว่าร้อยละ 30 หรือประมาณ 102 ล้านไร่

หากแต่ในรายละเอียดของการใช้ประโยชน์ที่ดินในประเทศไทย ใช่ว่าผืนป่าร้อยละ 30 นั้นจะไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย แต่ป่าหลายแห่งนั้นมีชุมชนตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ บางพื้นที่มีการบุกรุกเพิ่มเติม ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง คน กับ ป่า จึงดูเป็นปัญหาสำคัญที่ยืดเยื้อและมีการต่อสู้กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

รองอธิบดีจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลสรุปที่น่าสนใจเกี่ยวกับ รากปัญหาระหว่างคนกับป่า

เราต้องยอมรับกันก่อนว่าในอดีตราษฎรมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่ป่า หรือพูดง่าย ๆ ว่า ก็มีคนอยู่กับป่ามาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ทวด แต่ปัญหาก็คือ การขยายครอบครัว มีคนเข้าไปอยู่ใหม่ มีการขยายที่ทำกินเพิ่มขึ้นมา บางแห่งก็มีการบุกรุกมาจากข้างนอก เมื่อประชากรนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่พื้นที่ป่าในประเทศไทยนั้นลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐต้องหามาตรการเพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้เอาไว้ เริ่มตั้งแต่การเกิด พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2484 เพื่อประกาศพื้นที่ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีการใช้ประโยชน์ ให้เป็นพื้นที่ป่าทั้งหมด จนถึงช่วงของการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ ฯ ในปี พ.ศ.2504

ซึ่งวิธีคิดในตอนนั้นก็เชื่อว่าเป็นวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาได้ แต่ว่าพอมาทำจริง ๆ ในรายละเอียด ก็เกิดความขัดแย้งกันระหว่างคนอยู่ในป่ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการจับคนบุกรุกพื้นที่ ขณะที่ฝั่งชาวบ้านก็บอกว่า อยู่อาศัยมาก่อนที่จะประกาศ

ซึ่งปัญหานี้ก็เป็นรากปัญหาอันยาวนานที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐ และราษฎร

ในยุคถัดมา รัฐบาลเองก็มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาโดยออกนโยบายพื้นที่ ส.ป.ก. โดยนำพื้นที่ป่าที่โดนบุกรุก หรือ พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เอามาจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้านโดยเน้นการทำเกษตรกรรม

แต่ขณะเดียวกันการบุกรุกก็ยังคงมีอยู่ จนมาถึงช่วงมติ ครม. ปี พ.ศ. 2541 เรื่อง มาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ให้กรมป่าไม้สำรวจพื้นที่ครอบครอง รวมถึงมีการขึ้นทะเบียนผู้ครอบครอง ซึ่งในอีกด้านกลายเป็นการเปิดโอกาสให้มีการอ้างสิทธิครอบครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างชอบธรรมของคนที่ไม่ได้อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศ

ในปี พ.ศ. 2557 ยุครัฐบาล คสช. จึงมีนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยใช้แผนที่ปี พ.ศ. 2545 มาจัดการกับตรงนั้น ซึ่งก็ยังมีปัญหาเรื่องตรวจสอบสิทธิ์ ขณะเดียวกันก็ยังมีการขยายพื้นที่กันอีก จนถึงในปัจจุบันนี้ ทางเราก็เลยคิดกันว่ามันต้องมีจุดสิ้นสุดการเจรจาระหว่างรัฐกับชาวบ้าน เลยไปจบตรงที่การเปลี่ยนวิธีคิดทั้งหมด โดยลองนโยบาย "คนอยู่กับป่า"

แต่ว่าจะต้องอยู่แบบมีเงื่อนไข ทำรายละเอียดร่วมกันในแต่ละพื้นที่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรให้ได้ นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ฉบับใหม่ "

" หากลองดูสถิติคร่าว ๆ พื้นที่ป่าโดยการดูแลของกรมอุทยานฯ มีประมาณ 73 ล้านไร่ การสำรวจตามมติ ครม. 30 มิ.ย. พ.ศ. 2541 มีคนอยู่ในป่า 3.6 ล้านไร่ และเมื่อมีการสำรวจในปี พ.ศ. 2557 ปรากฏว่ามีการบุกรุกเพิ่มไปอีก 1.2 ล้านไร่ รวมแล้วก็คือ 4.8 ล้านไร่ และหลังจากนั้นก็ยังมีการบุกรุกเพิ่มอีกราว ๆ 5 หมื่นไร่ "

" คงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับป่ายังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ปรับเปลี่ยนไปตามบริบท สถานการณ์ และช่วงเวลา ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากวิธีคิดที่ต่างกัน รวมไปถึงเครื่องมือที่ไม่มีให้ใช้มากนักในอดีต ซึ่งในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาตามยุคสมัย ก็ช่วยให้มีเครื่องมือในการทำงานสะดวกขึ้น มีมาตรฐานขึ้น เพื่อสร้างการยอมรับจากทุกฝ่าย และใช้ข้อมูลที่อ้างอิงจากหลักวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนต่าง ๆ ในอดีต ประสบการณ์อันยาวนานในการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิด ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนมากขึ้น นับว่ามีกลไกใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการทำงาน "

รองอธิบดีอธิบายต่อว่า."ต้องยอมรับว่าปี พ.ศ. 2504 - 2557 พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยหายไปกว่า 60 ล้านไร่ ซึ่งก็ต้องเกิดจากการที่คนเข้าไปบุกรุก ก็เลยต้องมีกฎหมายสร้างความเป็นธรรมขึ้นมา คือเรื่องที่เราต้องยอมรับในกติกา ซึ่งก็มีการปรับปรุงพัฒนาระเบียบกฎหมาย จนถึงปัจจุบัน พรบ.ฉบับใหม่ที่กำลังจะออก ทางรัฐก็ยอมรับเรื่องคนอยู่กับป่า แต่ในรายละเอียดก็ต้องช่วยกัน อยู่อย่างไรจะยั่งยืน รักษาทรัพยากรธรรมชาติตรงนั้นเอาไว้ได้ "

#กระบวนการสร้างความเป็นธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาใช้ในการจัดการ ซึ่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ฉบับใหม่ จะให้ความสำคัญกับตรงนี้ โดยเริ่มจากการปรับข้อมูลให้ตรงกันทั้งฝ่ายชาวบ้านและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ทางกรมอุทยาน ฯ จึงมีการจัดทำแนวเขตควบคุม ตามปี พ.ศ. 2557

ส่วนที่มีการบุกรุกก่อนปี พ.ศ. 2557 แล้วยังไม่ได้ข้อสรุปก็เข้าไปบริหารจัดการ โดยใช้ พรบ. ตัวใหม่ ฉบับคนอยู่กับป่า แต่ในส่วนที่มีการบุกรุกเพิ่มหลังปี พ.ศ. 2557 ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบดำเนินคดี มีการส่งแผนที่ไปให้ยังเจ้าหน้าที่ภาคสนาม อุทยานแห่งชาติ 155 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ให้ไป Ground Check เพื่อให้ได้แนวเขตควบคุม "

" ปัจจุบันมีการกำหนดแนวเขตควบคุมที่ชัดเจน โดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ มีการสอนใช้เครื่องมือสำรวจ สร้างการยอมรับจากทุกฝ่าย และมีการเดินสำรวจอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ต่าง ๆ เมื่อมีแผนที่และข้อมูลตรงนี้ เวลามีปัญหา ทุกฝ่ายก็สามารถกางแผนที่ดูข้อมูลร่วมกันได้เลย โดยแผนที่ตัวนี้ถูกส่งเข้าไปเกือบ 300 หน่วยงานภาคสนาม "

เมื่อถามถึงแนวทางสู่ความยั่งยืนเมื่อคนอยู่กับป่า ท่านรองอธิบดี ฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า

"ส่วนนี้เราต้องคุยกับชาวบ้านแล้ว ว่าอยู่ในเขตพื้นที่อุทยาน รัฐก็ยอมรับแล้ว แต่การอยู่ต้องมีเงื่อนไขนะ ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่พื้นที่เอกสารสิทธิ์ จะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ ซึ่งก็ต้องร่วมมือกันดูแลทรัพยากรในพื้นที่ เช่น การปลูกต้นไม้ฟื้นฟูให้มันคืนสภาพป่าขึ้นมาบ้าง การเกษตรเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมีที่ทำลายระบบนิเวศก็ต้องหมดไป สิ่งที่เรานำไปใช้ หนึ่งในนั้น คือ ศาสตร์พระราชา ซึ่งเราเอารูปแบบมาใช้ในหลาย ๆ พื้นที่แล้ว แล้วแต่ว่าสภาพพื้นที่จะเอื้อต่อรูปแบบไหน เช่น ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง วนเกษตร ในอนาคตต้องเป็นแบบนี้ คนถึงจะอยู่กับป่าได้ "

logoline