svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

โลกวิกฤติ สหรัฐฯ ถอนสัญญานิวเคลียร์ เร่งพัฒนาขีปนาวุธ

03 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การขับเคี่ยวกันระหว่างสองมหาอำนาจทางทหารของโลกในเวลานี้ ที่ ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตนเองว่า เหตุใด ถึงจะไม่ต้องยึดกับข้อตกลงที่เคยทำร่วมกันเอาไว้ ซึ่งก็ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ ได้ว่าใครพูดจริง ใครพูดโกหก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นหากท้ายที่สุดมันนำพาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น ผลกระทบจะเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ไม่ใช่แค่สองประเทศอย่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย เท่านั้น

วันที่ 2 สิงหาคม 2562  เป็นวันที่โลกจะต้องบันทึกเอาไว้อีกครั้งกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งของนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ของโลก เมื่อทางด้านสหร้ฐฯ ได้ ถอนตัวอย่างเป็นทางการออกจากสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces agreement หรือ INF) ที่สหรัฐฯ ได้ทำไว้กับรัสเซีย โดยอ้างว่ารัสเซียได้ละเมิดข้อตกลงดังกล่าว 


เรื่องดังกล่าวนั้นได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ โดย นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาถึงความชัดเจนเรื่องการถอนตัวจากการเป็นภาคีของสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง ( ไอเอ็นเอฟ ) ร่วมกับรัสเซียอย่างเป็นทางการ


โดยทางด้านนายไมค์ ปอมเปโอ อ้างว่าทางด้านสหรัฐฯ ได้แจ้งไปยังรัสเซีย มากกว่า 30 ครั้ง เพื่อให้รัสเซียนั้นลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่มีต่อสหรัฐฯ และ พันธมิตรในยุโรป   แต่ที่ผ่านมานั้นทางด้านรัสเซีย ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ ดังนั้นถึงเวลาที่สหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องถอนตัวออกจากสนธิสัญญาดังกล่าว


โลกวิกฤติ สหรัฐฯ ถอนสัญญานิวเคลียร์ เร่งพัฒนาขีปนาวุธ




ในขณะที่ทางด้านนายเจนส์ สโตนเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ ออกมาสนับสนุนการตัดสินใจของสหรัฐฯ  เพราะเห็นว่า สนธิสัญญาควบคุมอาวุธไม่สามารถประสบความสำเร็จได้จนกว่าฝ่ายต่าง ๆ จะปฏิบัติตามสิ่งที่สนธิสัญญากำหนด แต่นาโต้ก็จะยังคงทำงานกับรัสเซียต่อไป โดยบอกว่า เวลา 6 เดือนนั้นมากเกินพอสำหรับการที่รัสเซียจะกลับมาปฏิบัติตามสนธิสัญญาอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ 


เจนส์ สโตนเทนเบิร์ก  ยังย้ำว่าสำหรับสมาชิกกลุ่มนาโต้ทุกประเทศ  กลัวว่ารัสเซียอาจจะนำขีปนาวุธรุ่นใหม่เข้ามาประจำการณ์ในยุโรป เนื่องจากขีปนาวุธพวกนี้สามารถโจมตียุโรปได้เกือบทั่วทุกจุด


ขณะที่ฝ่ายรัสเซียระบุว่าประเทศในยุโรปถูกสหรัฐฯ หลอกว่ารัสเซียละเมิดสนธิสัญญา เพื่อที่สหรัฐฯ จะหาเหตุผลที่จะออกจากสนธิสัญญาเพื่อไปพัฒนาอาวุธรุ่นใหม่  แต่ทั้งนี้ทางด้านรัสเซีย ก็ย้ำมาโดยตลอดว่ารัสเซียเองก็สามารถรับมือกับอาวุธรุ่นใหม่ของสหรัฐฯ ได้ทุกรูปแบบเช่นเดียวกัน


รัสเซียเชื่อว่าความเคลื่อนไหวนี้เป็นเพียงแค่กลอุบายออกจากสนธิสัญญา ด้วยเชื่อว่าอย่างไรเสียสหรัฐฯก็จะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาฉบับนี้อยู่ดี เพื่อจะได้พัฒนาขีปนาวุธใหม่ๆ


และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ทางด้าน มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯกล่าวหารัสเซียละเมิดสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางซ้ำๆ พร้อมบอกว่าได้เริ่มทำงานในการพัฒนาระบบขีปนาวุธนำวิถีและขีปนาวุธรุ่นยิงจากภาคพื้น ทั้งแบบปกติและแบบเคลื่อนที่แล้ว


โดยเขาอ้างว่าสหรัฐฯปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดต่อพันธสัญญาในสนธิสัญญา 1987 จนกระทั่งถอนตัวอย่างเป็นทางการ


โดยเขาได้กล่าวย้ำว่าหลังจากนี้ทางด้านกระทรวงกลาโหมจะหาทางอย่างเต็มกำลังในการพัฒนาขีปนาวุธแบบทั่วไปยิงจากภาคพื้น เพื่อไว้ตอบโต้อย่างรอบคอบต่อพฤติกรรมต่างๆของรัสเซีย


ก่อนหน้านี้ทางด้าน นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ได้ออกมาเปิดเผยว่าขณะนี้สหรัฐฯกำลังนำพาสงครามนิวเคลียร์ขยับเข้ามาใกล้ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งการให้สหรัฐฯ เดินหน้าผลิตหัวรบนิวเคลียร์ใหม่ ที่ชื่อว่า W76-2


โลกวิกฤติ สหรัฐฯ ถอนสัญญานิวเคลียร์ เร่งพัฒนาขีปนาวุธ




ในขณะที่ทางด้านสำนักงานบริหารความมั่นคงนิวเคลียร์แห่งชาติสหรัฐฯ ได้ให้ข้อมูลว่า หัวรบนิวเคลียร์ตัวใหม่ที่รู้จักในชื่อ W76-2 ได้เริ่มต้นผลิตขึ้นแล้วที่โรงงานแพนเท็กซ์ ของสำนักงานบริหารความมั่นคงนิวเคลียร์แห่งชาติสหรัฐฯ ในเขต เทกซัสแพนแฮนเดิล รัฐเทกซัส ขณะที่กองทัพเรือคาดหมายว่าจะได้รับหัวรบใหม่ชุดแรกเข้าประจำการภายในเดือนกันยายนนี้

สำหรับ หัวรบนิวเคลียร์ W76-2 เป็นรุ่นที่ถูกพัฒนาตามหลังรุ่น W76-1 และสามารถยิงออกมาจากเรือดำน้ำ ถือเป็นอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ของกองทัพสหรัฐฯ

สำหรับข้อมูลทางเทคนิคนั้น  W76 เป็นหัวรบนิวเคลียร์ความร้อน ที่เรียกว่า thermonuclear warhead 

สำหรับรุ่น W76-1 NPR  แรงระเบิดอยู่ที่ 100 กิโลตัน ซึ่งถ้าเทียบกับระเบิดนิวเคลียร์ ที่ถูกทิ้งลงกลางเมืองฮิโรชิมา ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีแรงระเบิดเพียง 15 กิโลตัน เท่านั้นเอง  สำหรับรุ่นใหม่     W76-2 คาดว่าจะเป็นการผลิตหัวรบนิวเคลียร์ที่มีผลการทำลายต่ำกว่า เพราะหลายครั้ง นายโดนัลด์ ทรัมป์ มักจะพูดถึงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ที่มีขนาดเล็ก และมีความสามารถยิงออกมาจากเรือดำน้ำได้   

นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อว่า การพัฒนานิวเคลียร์ขนาดเล็กของสหรัฐฯ ครั้งนี้ เป็นการลดระดับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่มันจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการใช้นิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น และแผนการของสหรัฐฯ กำลังขยับเข้าสู่การปฏิบัติจริง  ซึ่งรัสเซียเอง ก็จะจับตาความเคลื่อนไหวครั้งนี้ นอกจากนั้นจะดูเหมือนกันว่าประเทศในยุโรป ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ จะมีความเห็น หรือแสดงท่าทีอย่างไร กับการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ครั้งนี้ 


โลกวิกฤติ สหรัฐฯ ถอนสัญญานิวเคลียร์ เร่งพัฒนาขีปนาวุธ




การออกมาเปิดเผยครั้งนี้ของรัสเซีย เพื่อชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมานั้นสหรัฐฯ พยายามถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ เพื่อจะได้เดินหน้าเรื่องนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ได้สะดวกหรือไม่? และสิ่งที่รัสเซียโยนระเบิดกลับไปที่พันธมิตรในยุโรปว่า จะเอาอย่างไร เมื่อสหรัฐฯ เคลื่อนไหวแบบนี้ จะยังเอาด้วยกับสหรัฐฯ หรือไม่?


รัสเซีย ยังได้ระบุว่าสหรัฐฯ ได้ทำผิดพลาดที่ถอนตัวจากสนธิสัญญา และยืนกรานว่าสหรัฐฯละทิ้งข้อตกลงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่เพราะรัสเซียละเมิดสนธิสัญญาตามที่ถูกกล่าวหา


สนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces agreement หรือ INF) ระหว่างโซเวียตกับสหรัฐฯ ลงนามโดยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ กับ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียตในปี 1987 


ข้อตกลงดังกล่าวมีผลยุติการแข่งขันสะสมหัวรบ รวมทั้งหัวรบนิวเคลียร์ระหว่างอภิมหาอำนาจทั้งสอง อันสร้างความตื่นกลัวให้แก่ยุโรปว่าจะต้องกลายเป็นสมรภูมิของสงครามนิวเคลียร์ ด้วยเนื้อหาของ INF ห้ามทั้งสองฝ่ายติดตั้งประจำการขีปนาวุธประเภทยิงจากภาคพื้นดิน ซึ่งมีพิสัยทำการระหว่าง 500 ถึง 5,500 กิโลเมตร


ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เคยบอกว่ารัสเซียไม่ต้องการแข่งขันสะสมอาวุธและสัญญาว่าจะไม่ประจำการขีปนาวุธรัสเซียจนกว่าสหรัฐฯจะลงมือก่อน แต่ถ้าสหรัฐฯ เดินหน้าเรื่องการสั่งสมอาวุธ เขาก็จำเป็นต้องสั่งประจำการขีปนาวุธนิวเคลียร์ไฮเปอร์โซนิคบนกองเรือหรือเรือดำน้ำที่ล่องอยู่ใกล้ๆน่านน้ำต่างๆของสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน


ส่วนเจ้าหน้าที่สหรัฐฯบอกว่าอีกไม่กี่เดือน สหรัฐฯ จะทำการทดสอบขีปนาวุธพิสัยปานกลางเป็นครั้งแรก ซึ่งมีไว้สำหรับตอบโต้ภัยคุกคามจากรัสเซีย พร้อมคาดหมายว่ามันจะพร้อมสำหรับเข้าประจำการในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า


การขับเคี่ยวกันระหว่างสองมหาอำนาจทางทหารของโลกในเวลานี้ ที่ ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตนเองว่า เหตุใด ถึงจะไม่ต้องยึดกับข้อตกลงที่เคยทำร่วมกันเอาไว้ ซึ่งก็ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ ได้ว่าใครพูดจริง ใครพูดโกหก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นหากท้ายที่สุดมันนำพาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น ผลกระทบจะเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ไม่ใช่แค่สองประเทศอย่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย เท่านั้น


สถาพร เกื้อสกุล 3-08-2562
อ่านบทความอื่น ๆ ที่นี่ .. https://www.nationtv.tv/main/columnist/59/

logoline