svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

'แม่โขง'​ มีน้ำพอให้ผันเข้า​ เลย​ ชี​ มูล​ หรือ?

31 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม่น้ำโขงจะมีน้ำให้ผันเข้าไป เลย ชี มูล ตามชื่อโครงการหรือไม่ เรื่องนี้เป็นที่ตั้งข้อสังเกตโดยนักวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ที่ตั้งคำถามว่า ปัจจุบันแม่น้ำโขงมีเขื่อนกั้นอยู่เหนือ ปากแม่น้ำเลย ทั้งเขื่อนใหญ่ของจีน และเขื่อนไซยะบุรี ใน สปป.ลาว และกำลังจะมีเขื่อนเกิดอีก ตามแผน เช่นเขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากชม ในขณะที่ประเทศ ที่อยู่ท้ายแม่น้ำโขงไปอีกอย่างเช่นกัมพูชาและเวียดนาม ก็อาจได้รับผลกระทบ จนอาจกลายเป็นศึกแย่งชิงน้ำระหว่างภูมิภาคในที่สุด

อภิมหาโครงการผันน้ำโขง เข้าสู่ลุ่มน้ำเลย ชี และมูล เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถูกปัดฝุ่นอย่างจริงจังอีกครั้ง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่จะแก้ปัญหาภัยแล้ง เมื่อเร็วๆนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ก็ออกมาขานรับเตรียมผลักดันอย่างเต็มที่ด้วยวงเงิน 1.56 ล้านแสนบาท

แนวคิดการผันน้ำโขงเข้าสู่ลุ่มน้ำอีสานไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เริ่มมากว่า 20 ปีแล้ว ยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องเป็นราว และยังหลงเหลือซากของความล้มเหลวให้เห็นไม่ว่าจะเป็นเขื่อนปากมูล ที่ขวางกั้นระหว่างปากแม่น้ำมูลกับแม่น้ำโขง หรือเขื่อนราษีไศล ที่เดิมวาดฝันไว้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำโขง ชี มูล (ตอนนั้นยังไม่มี เลย) แต่ตอนนี้แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ ด้านชลประทาน

โดยเฉพาะเขื่อนปากมูล ที่เป็นตัวอย่างของผบกระทบ ต่อวิถีชีวิตประมงดั้งเดิม เนื่องจากปลาแม่น้ำโขงไม่สามารถว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ได้ ยังไม่นับความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และระบบนิเวศที่ปั่นป่วนไปหมด

โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล รอบใหม่นี้จะเริ่มต้นจากปากแม่น้ำเลย โดยการสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักขึ้น เพื่อสูบน้ำโขงมากักไว้ในลำน้ำเลย ก่อนต่ออุโมงค์ตรงปล่อยน้ำไปตามแรงโน้มถ่วง ลงเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

ความกังวลของชาวบ้านลำน้ำเลย บริเวณบ้านกลาง ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำสุดเกิดขึ้น เพราะเกรงว่าจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากชาวบ้านปากมูล อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ที่ต้องอพยพโยกย้ายชุมชนนับพัน หลังการสร้างเขื่อน

แม้คราวนี้ กรมชลประทาน จะใช้คำว่า 'ประตูระบายน้ำ' แทนคำว่า 'เขื่อน' ด้วยอ้างว่าประตูระบายน้ำจะไม่กักเก็บน้ำจนท่วมกลายเป็นอ่าง แต่จะกักเก็บน้ำให้เต็มลำน้ำที่ระดับตลิ่งเท่านั้น โดยไม่ต้องอพยพโยกย้ายชุมชนเหมือนการสร้างเขื่อน

แต่ชาวบ้านไม่วางใจ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา กรมชลฯ ไม่เคยชี้แจงข้อดีหรือข้อเสียของโครงการ รวมทั้งไม่มีอะไรยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าชุมชนจะไม่ถูกน้ำท่วม

ผู้ใหญ่บ้าน.ม.3 บ้านกลาง ต.ปากตม อ.เชียงคาน สรรัตน์ แก้วสา บอกว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด เข้ามาในชุมชน เพื่อเสนอโครงการฟื้นฟูหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ประตูระบายน้ำศรีสองรัก

เธอตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นการจัดการกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบรูปแบบใหม่ โดยไม่บอกความจริงให้ชาวบ้านทราบตั้งแต่ทีแรก และยิ่งตอกย้ำว่าชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณลำน้ำเลยในช่วงที่ต่ำกว่าประตูระบายน้ำจะต้องอพยพโยกย้ายชุมชนอย่างแน่นอน จึงมีโครงการดังกล่าวเข้ามา

ชาวบ้านทำได้เพียงยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ขณะที่นโยบายส่วนกลางยังคงเดินหน้าโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักเพื่อสานฝันผันน้ำโขง เลย ชีมูล ให้เป็นจริง

สำหรับชาวบ้าน หากโครงการเกิดขึ้นสิ่งที่ต้องแลกนอกจาก อาจต้องอพยพ มีสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดแล้ว ก็คือวิถีชีวิตดั้งเดิม อย่างการทำประมงน้ำตื้น ในแม่น้ำเลยจะหายไป เพราะมีการปิดประตูระบายน้ำ น้ำจะยกระดับสูงขึ้น ไม่มีใครสามารถทำประมงน้ำตื้นได้อีก

รวมไปถึงพืชผักที่เคยเกิดขึ้นในท้องแม่น้ำในช่วงฤดูแล้ง ที่ผมได้ไปพบ นับเป็นผักที่แปลกมากเพราะขึ้นใต้น้ำในระยะที่แดดส่องถึง ชาวบ้านเรียกว่า 'ผักปอบ' คล้ายๆผักกาด ที่นำมาทำสลัดกิน สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นความทรงจำ อีกเหมือนเคย

แต่คำถามที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติแม่น้ำโขง ที่แห้งในฤดูน้ำหลาก ก็คือ 'แม่น้ำโขง'จะมีน้ำให้ผันเข้าไป เลย ชี มูล ตามชื่อโครงการหรือไม่?

เรื่องนี้เป็นที่ตั้งข้อสังเกตโดยนักวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ที่ตั้งคำถามว่า ปัจจุบันแม่น้ำโขงมีเขื่อนกั้นอยู่เหนือ ปากแม่น้ำเลย ทั้งเขื่อนใหญ่ของจีน และเขื่อนไซยะบุรี ใน สปป.ลาว และกำลังจะมีเขื่อนเกิดอีกตามแผน เช่นเขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากชม

เมื่อมีเขื่อน ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ เพราะเขื่อนก็ต้องยกระดับน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า อีกทั้ง ภาวะโลกร้อนที่ทำให้ฤดูแปรเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่สลับหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการปล่อยน้ำจากประเทศจีนที่ไม่แน่นอน

ในขณะที่ประเทศ ที่อยู่ท้ายแม่น้ำโขงไปอีกอย่างเช่นกัมพูชาและเวียดนาม ก็อาจได้รับผลกระทบ จนอาจกลายเป็นศึกแย่งชิงน้ำระหว่างภูมิภาคในที่สุด

คำถามในอีกมุมหนึ่งต่อมาก็คือ ถ้าจะแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวทางไหนที่จะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตคน ต่อธรรมชาติน้อยที่สุด ยังมีแนวทางอื่นอีกหรือไม่ ที่ไม่ต้องใช้วิธีการผันน้ำโขง และอีกคำถามคือโครงการดังกล่าวได้ นำบทเรียนในอดีตมาทบทวน และศึกษาถึงความคุ้มค่า มากน้อยแค่ไหน?

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline