svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ภัยแล้ง​ =  หนี้เพิ่ม​ | กรมชลฯ​ เตือน​​งดปลูกข้าวตั้งแต่เดือน​มี.ค.​ แต่ชาวนาไม่ฟัง ?

24 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาวนาก็มักจะถามว่า 'ไม่ทำนาแล้วจะทำอะไร' ทั้งๆที่ได้รับคำเตือนว่าเสี่ยง ก็ยังลุยหว่าน หรือจริงๆแล้วชาวนาก็ไม่มีทางเลือก หรือ กรมฯต่างๆ ต้องลงพื้นที่หนักมากขึ้น เพื่อแนะทางเลือกและการันตีตลาดรับซื้อผลผลิตที่นอกจากข้าว

ข่าวชาวนาแย่งน้ำทำนาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผืนนาในเขตชลประทาน คือมีน้ำจัดสรรไปถึง แต่น้ำไม่พอจึงเกิดการแย่งน้ำ อย่างไรเสียชาวนาที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานยังมีโอกาสรอด ถ้าสามารถกดดันกรมชลประทานปล่อยน้ำ สำเร็จเพราะเหลืออีกเพียง เดือนกว่าๆ ก็จะเก็บเกี่ยวขายได้

แต่ที่น่าสงสารที่สุดคือชาวนาที่อยู่นอกเขตชลประทาน ที่อาศัยน้ำฝน ภาพที่เห็นนี่ต้นข้าวอายุราว 1-2 เดือนกำลังยืนต้นตายในผืนนาเป็นแสนๆไร่ แถบจ.พิจิตร ชาวนาเพิ่งหว่านข้าวเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งมีฝนตกลงมา ไม่มีใครรู้ว่าปีนี่จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง?

การหว่านข้าวในแต่ละครั้งคือความหวังว่าจะได้ขายผลผลิต ได้เงินมาหมุนเวียน ใช้จ่ายในครัวเรือน และใช้หนี้ใช้สิน เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ ข้าวนอกเขตชลประทานที่ส่อแววว่าจะตายทั้งหมด ก็เท่ากับสิ่งที่ลงทุนไปตั้งแต่ต้นสูญเปล่า

มันคงจะดีไม่น้อยถ้าการหว่านข้าวในแต่ละครั้งไม่มีต้นทุน แต่อย่างน้อยที่สุดการทำนา 1 ไร่ ประกอบด้วยค่าเมล็ดพันธุ์สำหรับชาวนาที่ไม่ได้เก็บเมล็ดเอง ค่าปุ๋ย ค่ายากำจัดศัตรูพืช ค่าน้ำมันรถไถ่ และค่าแรง รวมๆไร่มีต้นทุนไร่ประมาณละ 4,000 บาท ในขณะที่ขายข้าวได้เกวียนละ 7,000-8,000 บาท ซึ่งชาวนาก็คาดว่า ข้าว 1 ไร่น่าให้ผลผลิตได้ 1 เกวียน

หากขายข้าวได้ก็จะพอมีกำไร ไร่ละ 3,000-4,000 บาท ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราปลูกข้าวสัก 10 ไร่ ลงทุนไป 40,000 เจอฝนทิ้งช่วง เงิน 4 หมื่นที่ลงไปกลายเป็นสูญเปล่า นี่ยกตัวอย่างปค่ขนาดย่อมๆ ชาวนาแถวนั้นปลูกกัน 30 ไร่++ มนุษยเงินเดือนอย่างเราปวดหัวแน่น และแน่นอน เมื่อทุกอย่างกลายเป็น 0 เงินที่ลงทุนไปก็ทบขึ้นเป็นหนี้สิน

คำถามก็คือ 'รัฐ' ซึ่งมีหน่วยงานทับซ้อนมากมาย ที่ทำเรื่องพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร ได้แจ้งเตือนชาวนานอกเขตชลประทานหรือไม่ ว่าปีนี้จะเกิดฝนทิ้งช่วง ให้หยุดปลูกข้าว

ย้อนไปดูแฟ้มข่าวเก่า เกี่ยวกับการแจ้งเตือน พบข้อมูลเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ระบุว่าป้ายประกาศเตือนขนาดใหญ่ของสำนักงานชลประทานที่ 10 นำมาติดตั้งขอความร่วมมือชาวนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว เนื่องจากจะกระทบปริมาณน้ำต้นทุนในหน้าแล้ง ซึ่งปีนี้คาดว่าจะรุนแรงกว่าทุกปี โดยป้ายดังกล่าวถูกนำไปติดตั้งหลายจุดเพื่อขอความร่วมมือชาวนาให้งดทำนาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งอาจจะมีน้ำไม่เพียงพอให้ชาวนาทำนารอบใหม่ ทำให้ชาวนาหลายรายต่างเร่งสูบน้ำเข้านาเพื่อกักเก็บไว้ในช่วงหน้าแล้ง

กรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงพื้นที่สำรวจ สรุปมีจำนวน 11 จังหวัด 26 อำเภอ 71 ตำบล พื้นที่รวม 151,552 ไร่ ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งปริมาณน้ำมีเพียงพอ

แต่สำหรับพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนารอบที่ 2 พบว่า ในเขตชลประทาน จำนวน 32 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 1,186,336 ไร่ และนอกเขตชลประทาน มี 7 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 133,702 ไร่ รวมทั้งประเทศ 36 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 1,320,038 ไร่!

ชาวนาก็มักจะถามว่า 'ไม่ทำนาแล้วจะทำอะไร' ทั้งๆที่ได้รับคำเตือนว่าเสี่ยง ก็ยังลุยหว่าน หรือจริงๆแล้วชาวนาก็ไม่มีทางเลือก หรือ กรมฯต่างๆ ต้องลงพื้นที่หนักกว่านี้ เพื่อแนะทางเลือกและการันตีตลาดรับซื้อผลผลิต

เพราะบางทีการเตือนว่าห้ามปลูกอย่างเดียว โดยไม่ลงไปช่วยเหลืออย่างจริงจังว่าทางเลือกของชาวนา ยังมีอะไรอีกบ้าง สุดท้ายก็จะเกิดความเสียหาย ซึ่งไม่คุ้มกับค่าชดเชย ไร่ละหลักร้อย

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline