svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รีวิว​ 3​ รัฐมนตรี​ช่วย​เกษตร​ฯ​ ลงพื้นที่แก้ภัยแล้ง​ 'ท่าดี​ แต่ทีเหลว​?'​

20 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เราได้เห็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ สั่งให้จังหวัดต้นน้ำ อย่าง กำแพงเพชร หยุดสูบน้ำจากแม่น้ำปิงเข้านา เพื่อให้มีน้ำไหลลงไปสู่พื้นที่ท้ายน้ำ แถวอยุธยา อ่างทอง... แต่สถานการณ์ที่ผมเห็นในวันนี้ก็คือ.ชาวนากำแพงเพชร พิจิตร ยังกดดันให้กรมชลประทาน ผันน้ำเข้านาเป็นแสนๆ ไร่อย่างต่อเนื่อง

2 วันสั้นๆ ที่ผมได้ลงพื้นที่ทำข่าวภัยแล้งภาคเหนือ วันแรกติดตาม 3 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปดูน้ำในเขื่อนภูมิพล ที่ขวางกั้นลำน้ำปิง ซึ่งน้ำเหลือ 9% และใช้การได้อีก 40 วันเท่านั้น ถ้าไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม

'ประภัตร โพธสุธน' อดีตเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในสมัยรัฐบาล'ชวน หลีกภัย' ปัจจุบันได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในสมัยรัฐบาล 'พลเอกประยุทธ์' อีกครั้ง เขาน่าจะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่รู้เรื่องน้ำมากที่สุดในบรรดา 3 รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตร ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้

ท่ามกลางปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ชาวนาเป็นคนกลุ่มแรก ที่จะได้รับผลกระทบก่อนใคร คุณประภัตร ได้พูดถึงการจัดคิวน้ำ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันใช้น้ำระหว่างพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

เขาบอกว่าให้จังหวัดที่อยู่ต้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น นครสวรรค์ กำแพงเพชร ที่มีแม่น้ำปิงไหลผ่าน หยุดสูบน้ำทำนา เพื่อให้มีน้ำไหลไปบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น อยุธยา อ่างทอง เพื่อให้มีน้ำปลูกข้าวอย่างทั่วถึง

การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นคำสั่งหรือนโยบายโดยตรงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆยังไม่มีการกำหนดกติกาออกมาอย่างชัดเจนว่า จะแบ่งสูบน้ำกันวันละเท่าไหร่ จะสลับกันอย่างไร สูบได้กี่วัน หยุดสูบกี่วัน

รู้แต่เพียงว่าอาจต้องใช้กำลังทหารเข้ามาควบคุมแหล่งน้ำในภาวะภัยแล้งครั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดศึกชิงระหว่าชาวนาด้วยกันเอง

ส่วนรัฐมนตรีช่วยอีกคน 'ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า' ก็อาศัยคอนเน็คชั่น ระหว่างกองทัพในการดึงยุทโธปกรณ์ มาช่วยทำฝนหลวงโดยเฉพาะเครื่องบิน

แต้คำถามก็คือ ในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้ จะทำให้เกิดฝนตกลงมาจากการโปรยสารฝนหลวงได้มากน้อยแค่ไหน?

ในวันเดียวกัน 3 รัฐมนตรีช่วย ได้เดินทางไปดูระดับน้ำเขื่อนสิริกิต์ซึ่งขวางกั้นลำน้ำน่าน มีน้ำเหลือ 6%

ทั้ง 2 เขื่อนใหญ่ ภูมิพล-สิริกิติ์ ต้องระบายน้ำออกมากกว่ามีน้ำเข้าเกือบ 4 เท่า

นั่นหมายความว่า ถ้ายังไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์ก็จะวิกฤตใกล้เคียงกับปี 2558 ที่กระทบไปถึงน้ำอุปโภคบริโภค และแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปา

แต่ความหวังยังมี นักวิชาการ ระบุว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ เกิดจาก 'เอลนีโญแบบอ่อน' ซึ่งไม่รุนแรงเท่าปี 2558 โดยคาดว่าจะมีพายุโซนร้อนพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะช่วยเติมน้ำในเขื่อน แต่ก็ต้องจับตาดูในปีหน้าว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงแบบปีนี้หรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มสูง

หากเป็นเช่นนั้นปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ในปีนี้ที่น้อยอยู่แล้ว ก็จะส่งผลให้ปีหน้ามีสถานการณ์ภัยแล้งที่วิกฤตมากกว่าปีนี้ หรืออาจเรียกง่ายๆว่าปีหน้าเผาจริง

ทีมข่าวของเรายังตัดสินใจอยู่ในพื้นที่อีกวัน เพื่อตะเวนดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวนา

เราเดินทางไปที่รอยต่อจังหวัดกำแพงเพชร และพิจิตร พื้นที่ที่ได้รับข้อมูลว่า ชาวนาปิดถนนเรียกร้องกรมชลประทานให้ผันน้ำเข้าคลอง

ผมคุยกับชาวนากำแพงเพชร ที่รวมตัวกดดันขีดเส้น 7 วัน ให้กรมชลประทานผันน้ำเข้านาจำนวน 3 แสนไร่ที่เข้ากำลังตั้งท้องออกรวง

ชาวนาบอกกับผมว่าเหลือเวลาอีกเพียงเดือนเดียวก็จะเก็บเกี่ยวได้ นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องมีน้ำไปเติมในทุ่ง เพื่อให้ผลผลิตออกมาดี และขายได้มากๆ มันเป็นความหวังเดียวของปีนี้ที่จะได้เงินมาใช้หนี้บางส่วน ที่สะสมมานาน

เมื่อมีปัจจัยบีบคั้น ก็ไม่มีทางเลือกสำหรับ'ชาวนา'ที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อนำน้ำเข้าทุ่ง

เมื่อวานนี้ เราได้เห็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ สั่งให้จังหวัดต้นน้ำ อย่าง กำแพงเพชร หยุดสูบน้ำจากแม่น้ำปิงเข้านา เพื่อให้มีน้ำไหลลงไปสู่พื้นที่ท้ายน้ำ แถวอยุธยา อ่างทอง

แต่สถานการณ์ที่ผมเห็นในวันนี้ก็คือ... ชาวนากำแพงเพชร พิจิตร ยังกดดันให้กรมชลประทาน ผันน้ำเข้านาเป็นแสนๆ ไร่อย่างต่อเนื่อง

นั่นหมายความว่านโยบาย หรือ คำสั่งของรัฐมนตรีช่วยวานนี้ ไม่มีผลอะไรเลยในการจัดคิวน้ำ

ในขณะที่น้ำในเขื่อนภูมิพลเหลือน้ำ 9% และมีแนวโน้มลดลง และเหลือใช้การได้อีก 40 วันเท่านั้น

ปัญหาการจัดการภัยแล้ง ก็ยังคงวนเวียน อยู่ในรูปแบบเดิม ไม่ปีหน้า ก็อีก 4 ปีข้างหน้า ผมก็จะต้องกลับมาเขียนข่าวคล้ายเดิม

บางทีก็อดคิดขำๆไม่ได้ว่า เช่นนี้แล้วจะเอาข่าวเก่าที่เคยเขียนไว้มาแก้วันที่ เปลี่ยนพ.ศ. เปลี่ยนบุคคลในข่าว ก็กลายเป็นข่าววันนี้ได้แล้ว

แต่นั่นก็เป็นเพียงตลกร้าย ที่คงไม่มีใครขำออก และคงต้องก้มหน้ารับกรรม คำถามที่ยังคาใจคือ มันเป็นภัยธรรมชาติ หรือ บริหารผิดพลาด นี่คงเป็นอีกคำถามใหญ่ที่ทิ้งไว้ทุกครั้งที่เกิดภัยแล้ง

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #NationTV #Nation

logoline