svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

มองวิถีชีวิต "ไทย-ไต้หวัน" ผ่านรอยสักโบราณ

20 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไปชมนิทรรศการเกี่ยวกับรอยสักที่ไม่ใช่แค่รอยสักแฟชั่น แต่เป็นรอยสักที่บ่งบอกได้ถึงเกียรติยศ ความกล้าหาญ และเชื่อของคนโบราณ จากชนเผ่าดั้งเดิมของไต้หวัน และชาวล้านนาของไทย น่าสนใจแค่ไหนติดตามพร้อมกันจากรายงาน

มากกว่าแค่การเป็นแฟชั่นหรือศิลปะบนเรือนร่าง การสักลวดลายต่างๆ ลงบนร่างกายมนุษย์เป็นวัฒนธรรมที่มีมายาวนานหลายพันปี เพื่อเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงนัยยะสำคัญบางอย่างที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นและยุคสมัย คนไต้หวันดั้งเดิมอย่างชาวไท่หย่า ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของไต้หวัน มองว่า รอยสักบนใบหน้าคือเครื่องพิสูจน์ว่าพวกเขาได้รับการยอมรับจากสังคม ความสามารถด้านการทอผ้าและการเกษตรของผู้หญิง และความกล้าหาญของผู้ชายที่จะต้องออกล่าสัตว์หรือนักรบที่นำศรีษะของข้าศึกกลับมา ชาวไท่หย่ายังเชื่อว่าผู้ที่ได้รับการสักบนใบหน้าเท่านั้นที่จะสามารถข้ามสะพานแห่งสายรุ้งได้หลังจากเสียชีวิต

มองวิถีชีวิต "ไทย-ไต้หวัน" ผ่านรอยสักโบราณ


ส่วนชาวไผวัน ทางตอนใต้ของไต้หวันก็มีวัฒนธรรมการสักเช่นเดียวกัน โดยใช้รอยสักเป็นสัญลักษณ์ของเกียรติยศ ความรับผิดชอบ และใช้บ่งบอกถึงชนชั้นทางสังคมผ่านลวดลายรูปแบบต่างๆ เช่นลายคน และลายตะขอ บางลวดลายจะจำกัดไว้เฉพาะสำหรับชนชั้นผู้นำที่จะต้องได้รับอนุญาติจากชนเผ่าก่อนการสัก ไม่ต่างกับวัฒนธรรมของชาวล้านนาของไทย ที่ผู้ชายนิยมการสักขาลาย หรือการสักตั้งแต่ช่วงต้นขาขึ้นมาถึงหน้าท้อง เพื่อแสดงถึงความกล้าหาญ และความเป็นลูกผู้ชายที่จะต้องผ่านการอดทนต่อความเจ็บปวดทรมานระหว่างการสัก

แต่เมื่อผ่านยุคสมัยแห่งสงครามและการล่าอาณานิคมมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ ก็ทำให้รอยสักที่แฝงความหมายเหล่านี้กำลังจะสูญหายไปจากสังคมมิวเซียมสยาม จึงได้ร่วมกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน เปิดนิทรรศการ "สักสี สักศรี" ภายใต้แนวคิด "ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน" เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ แสดงให้เห็นถึงความเป็นมา ความเชื่อ ทัศนตคิทางสังคม และความหมายลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยสักแบบดั้งเดิมของชาวไต้หวัน และชาวล้านนาของไทย

มองวิถีชีวิต "ไทย-ไต้หวัน" ผ่านรอยสักโบราณ


โดยหง ซื่อ โย่ว ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน เล่าว่า ชาวไท่หย่าและชาวไผวัน เป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมเก่าแก่ของไต้หวัน แต่วัฒนธรรมของพวกเขากำลังเลือนหายไป จึงอยากช่วยฟื้นฟูวิถีการสักแบบดั้งเดิมนี้ให้กลับมามีความหมายอีกครั้งด้านคุณราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) บอกว่า ทั้งสองชนเผ่าของไต้หวันและชาวล้านนาของไทยมีความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมในด้านนี้ จึงได้จัดนิทรรศการร่วมกันเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาถึงแนวคิดทางสังคมของสองประเทศ
นอกจากนี้ภายในนิทรรศการยังมีการจำลองการสักแบบดั้งเดิม โดยช่างสักมือจากไต้หวัน และกิจกรรมสนุกๆเกี่ยวกับการสักอีกมากมาย สำหรับใครที่สนใจ นิทรรศการ "สักสี สักศรี" จัดขึ้นที่มิวเซียมสยาม สามารถเข้าชมได้จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2562

logoline