svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ครูจุ๊ย" ชี้ "อ่านออกเขียนได้" เป็นปัญหาเร่งด่วน ศึกษาธิการ

18 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ครูจุ๊ย" ชี้ "อ่านออกเขียนได้" เป็นปัญหาเร่งด่วน ศธ. - แนะสร้างสมาธิให้เด็กด้วยการ "เปิดพื้นที่" - จี้หยุดท่องจำค่านิยมแบบเดียวโดยไม่ตั้งคำถาม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แสดงความคิดเห็นในหัวข้อ "แก้ปัญหาการศึกษาให้ตรงจุด" โดยระบุว่า

"ปัญหาการศึกษาไทยมีมากมาย ถ้าจะต้องทำทุกเรื่องพร้อมกันคงลำบาก ในวาระที่รัฐมนตรีใหม่เข้าทำงานวันแรก จึงขอไล่เรียงตามข้อเสนอของคุณหญิงกัลยา" ทั้งนี้ น.ส.กุลธิดา ได้หยิบยกข้อเสนอของ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการขึ้นมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ
น.ส.กุลธิดา ระบุว่า ทักษะภาษาและอนาคต เป็นสิ่งจำเป็น แต่ด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การจะเน้นเฉพาะภาษาใหม่ๆ อย่างภาษาโค้ดอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหา ปัจจุบัน ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ในภาษาไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในกลุ่มเด็กที่ขาดแคลนโอกาส ส่วนนี้ จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ส่วนภาษาอังกฤษต้องส่งเสริมให้เป็นรูปธรรม แต่การสร้างห้องเรียนสองภาษาให้เกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ย่อมต้องการครูเป็นจำนวนมาก การจ้างครูต่างชาติอย่างเดียวไม่ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้ ช่วงแรก ขอเสนอให้จ้างครูต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถในการฝึกฝนครูไทยมาช่วยสอน รวมกับการใช้เทคโนโลยี เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต สอนแบบเรียลไทม์ มีครูต่างชาติในจอและครูไทยประกบไปพร้อมๆ กัน ระยะยาวไทยต้องฝึกให้ครูไทยสามารถสอนภาษาอังกฤษได้มีประสิทธิภาพ และอยู่ในโครงสร้างที่จบไปแล้วได้ใช้ความรู้ความสามารถของตน ไม่ใช่ต้องไปทำงานอื่น ส่วนภาษาโค้ด เห็นด้วยว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งทักษะในอนาคต แต่ต้องเน้นย้ำกับบุคคลากรทางการศึกษาอย่างยิ่งว่า คือพื้นฐานของตรรกะ และการคิดอย่างเป็นระบบ สำคัญเหลือเกินที่ต้องสอนการเขียนโค้ดด้วยความเข้าใจนี้ เพื่อนำไปใช้ประยุกต์ต่อยอด และต้องมาพร้อมกับกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีม การนำโค้ดไปใช้แก้ปัญหาซับซ้อนต่างๆ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่จะต้องสร้างให้เด็กๆ ตั้งแต่ในห้องเรียน 
น.ส.กุลธิดา ระบุอีกว่า การแก้ปัญหาเรื่องสมาธิต้องแก้ให้ตรงจุด ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเด็กปัจจุบันอยู่ร่วมกับสิ่งเร้ารอบตัว อินเทอร์เน็ตใช่เป็นเพียงสัญญาณสื่อสาร แต่เป็นอีกพื้นที่หนึ่งของเด็กๆ ดังนั้น หากต้องการทำให้สามารถจดจ่อกับสิ่งใดๆ ได้นาน ต้องฟังและหากิจกรรมที่เด็กชื่นชอบ แต่หากต้องการจัดการกับปัญหาเรื่องสมาธิจริงๆ กิจกรรม mindfulness ซึ่งเน้นช่วยให้เด็กๆ มีสติ ทั้งกับตัวเองและกับผู้อื่น ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ น่าจะตอบโจทย์มากกว่า เช่น การสร้างพื้นที่ในโรงเรียนให้เด็กๆ ได้เดิน กระโดด ตามภาพบนพื้น การให้เด็กได้ปล่อยพลังไปกับการพักอย่างเต็มที่ การสอนให้หัดกำหนดลมหายใจแบบต่างๆ ซึ่งทำได้ทั้งการนั่ง ยืน เดิน นอน และอื่นๆ อีกมากมาย สำคัญที่สุดยังช่วยให้เด็กๆ จัดการกับความเครียดของตัวเองได้ดีมากขึ้นอีกด้วย ส่วนการท่องจำ อาจยังต้องมีอยู่บ้าง แต่การฝึกทำซ้ำเป็นกระบวนการอย่างเป็นระบบจะช่วยให้จำได้อยู่แล้ว ยกตัวอย่าง การเรียนคณิตศาสตร์ ปัจจุบันเป็นเรื่องของกระบวนการได้มาซึ่งคำตอบมากกว่าคำตอบ อย่างการเรียนแบบ open approach ซึ่งให้ความสำคัญกับการหัดแก้ไขปัญหามากกว่าคำตอบ สร้างความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งทักษะนี้จะจำเป็นอย่างยิ่งในโลกอนาคต
"ท้ายที่สุด การท่องจำค่านิยม ประวัติศาสตร์ต่างๆ โดยไม่ตั้งคำถามนั้น นักเรียนไทยถูกบังคับให้ทำมาตลอดทั้งในห้องเรียนและในข้อสอบ น่าจะถึงเวลาแล้วที่รัฐมนตรีใหม่จะเริ่มใส่ใจปัญหานี้ เพราะนำไปสู่ความคิดความเชื่อแบบเดียวโดยไม่ตั้งคำถาม ขัดกับหลักการคิดวิเคราะห์ ทั้งหมดนี้เริ่มง่ายๆ ที่ห้องเรียน ที่นักเรียนได้ถกเถียงและพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดมากขึ้น ครูเป็นเพียงผู้นำเสนอและชี้แนะไม่ใช่ผู้กุมชะตาชีวิตนักเรียน หลักการที่คนต้องคิด ต้องเชื่อ เพียงแบบเดียว ก่อให้เกิดปัญหามากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความเกลียดชังอย่างสุดขั้ว การถูกปิดกั้นไม่ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เหล่านี้ ล้วนมาจากการกล่อมเกลาให้มีความคิดเพียงชุดเดียวเท่านั้น
 ทั้งนี้ เห็นว่าข้อเสนอทั้งหมดไม่ได้มาจากความหัวโบราณ แต่มาจากความไม่เข้าใจที่มีต่อตัวเด็กและกระบวนการเรียนรู้ในโลกปัจจุบันเพียงเท่านั้น ซึ่งแน่นอนปรับเปลี่ยนกันได้" น.ส.กุลธิดา กล่าว

logoline