svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

'เขื่อนไซยะบุรี'​ ปิดตำนาน​ 'ทางผ่านพญานาค'? เมื่อแม่น้ำโขงเหือดแห้ง​

18 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทุนเบียดบังคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทุนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ มันอาจไม่มี นรก หรือ สวรรค์ ไม่มี บุญ หรือ บาป สำหรับ ทุน แต่เวรกรรม มีจริง!

ผืนทรายใต้ท้องน้ำปรากฎในเห็น นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่มนุษย์กำหนดความเป็นไปของสายน้ำ ทำลายวิถีชีวิต ความเชื่อจนหมดสิ้น

นี่คือภาพมุมสูงของแม่น้ำโขงบริเวณท้าย 'เขื่อนไซยะบุรี' ในเขต สปป.ลาว หลังเริ่มทดลองปั่นไฟ ในช่วงวันที่ 15-29 กรกฎาคม นี้ ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงขึ้น-ลง ผิดปกติ ทางการลาวเตือนคนที่อยู่ในเมืองปากลาย ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนให้ระมัดระวัง และให้เก็บของขึ้นที่สูง

ภาพนี้เปิดเผยโดย ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สะท้อนให้เห็นว่า 'เขื่อนไซยะบุรี' ที่ทดลองปั่นไฟนำมาสู่หายนะของแม่น้ำโขง ไม่เพียงแต่กีดขวางการอพยพของปลาเพื่อไปหากินและวางไข่ แต่ลิฟท์ปลาที่เขื่อนก็ไม่อาจช่วยให้ปลาอพยพได้ ระดับน้ำโขงที่ขึ้นลงผิดปกติทำให้ปลาสับสน หลงฤดู ส่งผลสะเทือนต่อวงจรชีวิตของปลา

อาจารย์บอกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชาวบ้านยังจับปลาบึกจากแม่น้ำโขงได้มาก แต่ 10 ปี ให้หลัง ประชากรลดลงถึง 90% ทำให้ถูกจัดให้เป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์

วันนี้ ถิ่นอาศัย และแหล่งวางไข่ยังถูกคุกคามด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจากจีนลงมาจนถึงหลวงพระบาง และไซยะบุรี เป็นไปได้ว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นปลาบึกธรรมชาติในแม่น้ำโขงอีกแล้ว

และในมิติวัฒนธรรม ความเชื่อ ตามตำนานที่เล่าสืบทอดกันมา 'พญานาค' มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความเชื่อว่าเป็น 'วังบาดาล' ของเหล่านาคา พื้นที่บริเวณนี้จึงมีเรื่องราวและความศรัทธาเกี่ยวกับพญานาคอย่างแรงกล้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แต่วังบาดาล จะเป็นวังบาดาลได้อย่างไรเมื่อน้ำแห้งเหือดหายไป จะลบเลือนความเชื่อความศรัทธาของพญานาค ผู้อาศัยในแม่น้ำโขงไปด้วยหรือไม่ ? เพราะหากมีจริง เหตุใดจึงปล่อยให้มนุษย์คุกคาม ลบหลู่ได้ถึงเพียงนี้

หรือไม่เช่นนั้นแล้ว สิ่งที่มองไม่เห็นก็อาจลงทัณฑ์ มนุษย์ผู้โง่เขล่าด้วยภัยธรรมชาติ ที่ไม่อาจกำหนดได้เหมือนเขื่อนที่ขวางกั้นลำน้ำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเสียหายทางนิเวศน์นี้คือความรุนแรงทางสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นอย่างแช่มช้า และคนจนจำนวนมากต้องแบกรับภาระอีกเช่นเคย

ข้อมูลจาก 'ดร.ไชยณรงค์' ระบุว่า แม่น้ำโขงมีปลามากกว่า 1,000 สายพันธุ์ รวมถึงปลาบึก ปลาน้ำจืดชนิดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่พบที่เดียวในแม่น้ำโขง กล่าวกันว่าหากเทียบจำนวนชนิดพันธุ์กับพื้นที่ลุ่มน้ำแล้ว ลุ่มน้ำโขงคือลุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำมากที่สุดในโลก เพราะแม่น้ำอะเมซอนและซาอีร์แม้ว่ามีชนิดพันธุ์เยอะกว่า แต่พื้นที่ลุ่มน้ำมากกว่าลุ่มน้ำโขงมาก ถือว่าแม่น้ำโขงคือราชาแห่งสายน้ำ

ปลาในแม่น้ำโขงคือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้เรา และเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก หลายชนิดเป็นปลาเศรษฐกิจและเป็นที่มารายได้ของคนจน

ประมาณกันว่ามีคนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงกว่า 60 ล้านคน ตัวเลขนี้เข้าใจว่าเก่ามากๆ "ถ้ามีอะไรสักสิ่งที่เราควรจะทำในชีวิตนี้เพื่อลูกหลานของเรา การรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้เขื่อนแห่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะทำ เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำโขงกลับคืนมา"

สำหรับ 'เขื่อนไซยะบุรี' เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรก สร้างกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว แต่ลงทุนโดยทุนไทยภายใต้การสนับสนุนเงินทุนของสถาบันการเงิน 6 แห่งของไทย และไฟฟ้าส่วนใหญ่ส่งมาขายไทย จนได้ชื่อว่า 'เขื่อนลาวสัญชาติไทย' แม้มีการประท้วงจากคนลุ่มน้ำโขงทางฝั่งไทย และรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม แต่เขื่อนแห่งนี้ก็เกิดขึ้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทุนเบียดบังคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทุนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ มันอาจไม่มี นรก หรือ สวรรค์ ไม่มี บุญ หรือ บาป สำหรับ ทุน แต่เวรกรรม มีจริง!

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #VAJIRAVIT #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline