svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"พลังงานฟิวชั่น" จะเป็นทางออกโลกร้อนได้ไหม ?

17 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องเชื้อเพลิงสะอาด ที่ไม่เป็นภาระกับโลกใบนี้ "พลังงานฟิวชั่น" จะสามารถเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติได้หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วยังมีข้อถกเถียงอื่นๆ ที่ยังไม่รอบครอบรอบด้านเพียงพอ จึงขอทิ้งไว้เป็นคำถามสำหรับอนาคต

ข้อถกเถียงเรื่อง "พลังงานนิวเคลียร์" ว่าเป็นพลังงานสะอาดที่ปล่อยมลพิษน้อยที่สุด หรือแทบไม่ปล่อยเลยมีขึ้นมานานแล้ว ท่ามกลางการหาทางออกให้กับวิกฤตโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล

เรื่องนี้กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตมีความเห็นที่แตกต่าง "พลังงานนิวเคลียร์" ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน เพราะกำเนิดจาก "แร่ยูเรเนียม" ซึ่งมีการนำมาใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่แล้ว 439 โรง และเหลือศักยภาพแร่อีก 50 ปีก็จะหมด ดังนั้นแร่ยูเรเนียมจะมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ

มากไปกว่านั้น "พลังงานนิวเคลียร์" ก็ไม่ได้ปลอดซึ่ง "ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์" เพราะก่อนที่จะนำแร่ยูเรเนียมมาผลิตไฟฟ้าได้ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การทำเหมือง การผลิตแท่งเชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งต้องใช้พลังงานจาก "ฟอสซิล" เช่นเดียวกัน

ไม่นับรวมปัญหา แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว ที่ยังไม่มีวิธีกำจัดกัมมันตภาพรังสีออกไปได้ การแผ่รังสีของกากกัมมันตภาพรังสีเป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก เพราะมันนำไปสู่อาการป่วยหรือเสียชีวิต ภาพจำที่ยังคงติดตรึง คือการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ของสหภาพโซเวียต และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิ ประเทศญี่ปุ่น

แต่เมื่อพูดถึงปฏิกิริยานิวเคลียร์ "ฟิวชัน" อาจแตกต่างออกไปจาก "นิวเคลียร์" มันเป็นพลังงานอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า มีความสะอาด ปลอดภัย ใช้ได้ระยะยาว ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไม่มีกัมมันตรังสีและกากกัมมันตรังสี ไม่มีปัญหาเรื่องระเบิด เพราะไม่ใด้ใช้แร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิง แต่ผลิตพลังงานด้วยปฏิกิริยาทางฟิสิกส์ของเชื้อเพลิงฟิวชันที่มีอยู่ในธรรมชาติ ลักษณะเดียวกับดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นต้นแบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันขนาดยักษ์

เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานจากเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ในน้ำหนักเชื้อเพลิงที่เท่ากันนั้น ปฏิกิริยาฟิวชันจะให้พลังงานมากกว่าน้ำมันเป็นพันเท่า

แต่มันก็ไม่ง่าย Dr.Tuong Hoang, Advisor of Director of Institute for Magnetic Fusion Research ประเทศฝรั่งเศส บอกว่า ความท้าทายในการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชั่น คือการสร้างโรงไฟฟ้าต้องอาศัยวัสดุที่ทนความร้อนได้สูงมาก ในปัจจุบันนักวิจัยกำลังเร่งพัฒนาเพื่อสร้างวัสดุดังกล่าว ปัจจุบันพบว่า สามารถสร้างวัสดุทนความร้อนได้ใกล้เคียงกับที่ต้องการแล้ว อีกเรื่องคือ "ตัวนำยิ่งยวด" หรือ superconductor ที่มีประสิทธิภาพสูง ตัวนำยิ่งยวด เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างสนามแม่เหล็กในระดับที่ต้องการ อีกทั้งต้องสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานเพื่อพัฒนาไปสู่โรงไฟฟ้าได้ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง

มาถึงจุดนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า "พลังงานฟิวชั่น" จะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับเราในอนาคต แต่ยังต้องอาศัยการพัฒนาอีกมาก

ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องเชื้อเพลิงสะอาด ที่ไม่เป็นภาระกับโลกใบนี้ "พลังงานฟิวชั่น" จะสามารถเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติได้หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วยังมีข้อถกเถียงอื่นๆ ที่ยังไม่รอบครอบรอบด้านเพียงพอ จึงขอทิ้งไว้เป็นคำถามสำหรับอนาคต

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #vajiravit #VajiravitDaily #Nation #Nation TV

logoline