svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ธปท.ยันหั่นดอกเบี้ยไม่ช่วยค่าบาท

16 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สรท.ร้อง ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบายแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า พร้อมขอให้ดำเนินนโยบายเข้มข้นสกัดเงินทุนไหลเข้าเก็งกำไรระยะสั้น ด้านผู้ว่าการธปท.แจงลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ช่วยดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ลด และสกัดเก็งกำไรระยะสั้นได้ แนะเอกชนป้องกันค่าเงินด้วยการบริหารความเสี่ยง ชี้ บาทแข็งเกิดจากหลายปัจจัยทั้งเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง และการเพิ่มน้ำหนักลงทุนดัชนีหุ้นไทย

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า สรท.ได้เข้าพบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วีรไทสันติประภพ และคณะผู้บริหาร ธปท.เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตค่าเงินบาทต่อภาคการส่งออก โดยร้องขอ ธปท. แก้ไขปัญหาได้แก่ ด้านต้นทุนการเงินประกอบไปด้วย ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและควบคุมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จึงควรช่วยกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง สนับสนุนเอสเอ็มอีในการทำประกันค่าเงินในสถานการณ์ที่ผันผวนอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่องและได้มากขึ้นและขอให้เปิดเผยข้อมูลอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายเงินตราล่วงหน้า (ForeignExchange Forward Contract) ของธนาคารพาณิชย์หรือกำหนดค่าธรรมเนียมกลางเพื่อใช้ในการประกอบการทำประกันความเสี่ยง


ทั้งนี้ ยังขอให้ธปท.เข้ามาแก้ไขปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยนประกอบไปด้วย ขอให้ดำเนินนโยบายอย่างเข้มข้นมากขึ้นในการป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นขอให้รักษาทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งในภูมิภาค ขอให้ธปท. จัดให้มีโฆษกและ/หรือข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ข้อมูลทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงและเป็นปัจจุบันเพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถตัดสินใจป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างถูกต้องและทันท่วงทีเนื่องจาก ข้อมูลคาดการณ์จากสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์อาจทำให้สับสนและการซื้อขายสินค้าด้วยเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อกระจายความเสี่ยงต้องพิจารณาสกุลเงินที่เหมาะสม อาทิ เงินยูโร หรือเงินปอนด์สเตอริงอ่อนค่ากว่าเงินไทยจึงควรให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับสถานการณ์จริงให้มากที่สุด



อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าการแข็งค่าของเงินบาทเกิดจากปัจจัยภายนอกคือการกำหนดนโยบายแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางประเทศหลัก ซึ่งสนับสนุนsentiment ของประเทศเกิดใหม่และประเทศไทยส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะจากนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของไทยขณะที่ปัจจัยภายใน ประกอบไปด้วย 1.ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงเทขายทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปและจากการท่องเที่ยว 2. สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น 3. นักลงทุนมองเงินบาทในฐานะRegional Safe-Haven จากปัจจัยพื้นฐานที่ดีเนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าน้อยกว่าประเทศอื่น4. การเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCIและพันธบัตรไทยใน JP Morgan Index



นอกจากนี้ ธปท.ได้ดำเนินมาตรการรับมือประกอบไปด้วย หารือกับผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าหลักเพื่อทราบสถานการณ์และผลกระทบที่แท้จริงจากการแข็งค่าของเงินบาทปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทและเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติเพื่อเพิ่มแรงฝืดของเงินทุนไหลเข้าในระยะยาว ประกอบด้วย ลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศจากเดิม 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท ต่อราย และเพิ่มความเข้มงวดการรายงานข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติโดยรายงานถึงระดับชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Ultimate BeneficialOwnership: UBO)




อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยอยู่ในระดับต่ำ0.88% (Policy Rate 1.75% - Inflation 0.87%)ดังนั้นการลดดอกเบี้ยนโยบาย จึงอาจไม่ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และไม่ได้ช่วยลดเงินทุนไหลเข้าในระยะสั้น การกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นรุนแรงเกินไปอาจจะทำให้ต้นทุนเงินกู้ภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับต้นทุนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์จนเกิดผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจในประเทศการกำหนดนโยบายที่อาจนำไปสู่การเป็น Currency Manipulator จะมีผลกระทบด้านอื่นตามมาจากประเทศคู่ค้าสำคัญซึ่งอาจร้ายแรงกว่าผลกระทบจากค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ย




อย่างไรก็ดี ธปท. ขอความร่วมมือ สรท. ให้ขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการมีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้นร่วมมือในการป้องกันการสวมสิทธิ์การส่งออกไปยังสหรัฐฯเพื่อช่วยลดมูลค่าการส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯและกำหนดกลไกความร่วมมือเพื่อให้เกิดการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศเพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทย

logoline