svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เหรียญ​ 2​ ด้าน​ กะเหรี่ยงแก่งกระจาน​ กับ​ ปม​ 'มรดกโลก'​

15 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เรารู้ดีว่ามันเป็นความขัดแย้งหลบใน ตราบใดที่ปริศนาหลายเรื่อง ไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ ภาพของการให้ความร่วมมือก็เป็นแค่ ภาพเบื้องหน้า ส่วนเบื้องหลัง ไม่มีใครรู้ว่าใครคิดอะไร และยังคงเป็นเรื่องราวที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป...

เด็กกลุ่มชาติพันธ์ุกะเหรี่ยงที่ผมถ่ายรูปด้วย 4 คน เป็นพี่น้องด้วยกันทั้งหมด ครอบครัวนี้มีลูก 7 คน พี่ชายและพี่สาวคนโตไปเรียนในเมือง คุณแม่อายุมี 40 ปี คุณพ่ออายุประมาณเกือบจะ 50 ปี ทั้งคู่ย้ายมาจาก 'ใจแผ่นดิน' เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

วันนี้พวกเขาเพิ่งมีที่ทำกิน เป็นผลมาจากคำสั่งคสช. ที่ผ่อนปรนให้กับราษฎรที่อยู่ในเขตป่าทำกิน ก่อนปี 2557 ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้มีการรังวัดพื้นที่แนวเขต จัดทำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม มาอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ทำกินที่เห็นอยู่นี้ จะต้องไม่เกินขอบเขตที่เคยรังวัดไว้ตั้งแต่ปี 2557 และเมื่อคำสั่งคสช.ยกเลิกไปไม่นานนี้ กฎหมายที่จะมาคุ้มครองพื้นที่ทำกินของราษฎรในเขตป่าก็คือพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้หลังโปรดเกล้าฯ 180 วัน จะต้องกำหนดแนวเขตพื้นที่ทำกินของราษฎรในเขตป่า ให้แล้วเสร็จใน 240 วัน

เหล่านี้ น่าจะเป็นตัวเชื่อมสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธ์ุกะเหรี่ยง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่พยายามผลักดันขึ้นทะเบียนเป็น'มรดกโลก' แต่ล่าสุดไม่สำเร็จเพราะปัญหาชาวบ้านและเรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่

การแก้ไขปัญหาที่ดินยังมีเรื่องให้คิดอีกมากไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ทำมาแต่ดั้งเดิมสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ

ถ้ารัฐจัดสรรที่ดินให้ 10 ไร่พวกเขาบอกว่ารับได้ แต่ 10 ไร่นี้ไม่ได้หมายความว่า จะเป็น 10 ไร่ที่ใช้ปลูกข้าวหรือทำการเกษตรทั้งหมด แต่ใน 10 ไร่นี้จะถูกแบ่งทำการเกษตรแบบหมุนเวียนทีละ 3 ไร่ เมื่อหมดรอบการผลิตก็จะเปลี่ยนหมุนเวียนไปใน 3 ไร่ที่อยู่ใน 10 ไร่ที่ได้รับจัดสรร

และถ้า 10 ไร่เป็นจำนวนที่ชาวบ้านรับได้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้นมีจำนวนมากกว่า 50 ครัวเรือนจึงเกิดคำถามว่าเจ้าหน้าที่จะเจียดพื้นที่ป่ารองรับหรือไม่ แล้วถ้ามีพื้นที่หลังปี 2557 จะได้รับการรองรับหรือไม่

และเป็นไปได้หรือไม่ ที่ชาวบ้านจะปรับวิธีการทำกินจากการปลูกข้าวไร่ มาเป็นปลูกไม้ผลอย่างเช่นทุเรียนที่มีผลตอบแทนสูง แล้วนำเงินไปซื้อข้าวกิน ชาวบ้านบอกกับผมว่าพวกเขาไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะไม่มีเงินทุนตั้งต้นในการปลูกพืชไม้ผลที่ต้องใช้เงินลงทุนอีกมาก

ถ้าได้กลับไปอยู่ใจแผ่นดิน พวกเขาบอกว่าจะมีข้าวเหลือกินเหลือใช้ไม่เคยอด และถ้าเลือกได้ก็อยากกลับไปอยู่ที่เดิม แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็อยากให้รัฐจัดสรรที่ดินทำกินให้ 10 ไร่

ย้อนไปเมื่อปี 2539 ที่ชาวบ้านบริเวณพื้นที่ใจแผ่นดินตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ ได้อพยพย้ายลงมาอยู่ในบ้านโป่งลึก-บางกลอย ตามนโยบายรัฐ

จำนวนประชากร บ้านโป่งลึก-บางกลอย เริ่มแรกมีอยู่เพียง 390 คน 20 ปีให้หลัง มีประชากรเพิ่มขึ้นถึงกว่า 1000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีการคุมกำเนิด

นี่เป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไปว่า หากชุมชนโป่งลึกบางกลอยกำลังขยายตัวสวนทางกับสังคมผู้อยู่ผู้สูงอายุในสังคมเมือง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจากการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างคน จะเกินขีดความสามารถที่จะรับได้หรือไม่ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ดินดูเหมือนจะมีแนวทางในการคลี่คลาย ที่พอจะเห็นภาพอนาคตที่จะอยู่ร่วมกันได้ แต่ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะการหายตัวไปของบิลลี่ยังคงเป็นปริศนาของชาวกะเหรี่ยงอยู่ในทุกวันนี้

'เพชร รักจงเจริญ' เป็นพี่ชายของ บิลลี่ วันนี้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ มารังวัดแนวเขตพื้นที่ตามมติครม.และพื้นที่ผ่อนปรน ตามคำสั่งคสช.เพื่อจะรองรับสิมธิ์ ตามพระราชบัญญัติอุทยานฉบับใหม่

เพชร บอกว่าถ้ามีที่ทำกินให้อย่างนี้ เขาก็จะปักหลักอยู่ที่นี่ ไม่คิดกลับไปใจแผ่นดิน แต่เมื่อถามเรื่องเกี่ยวกับน้องชายที่หายตัวไป เขาบอกแต่เพียงว่า 'ผมไม่รู้' เป็นคำตอบที่พูดกับนักข่าวท่ามกลางเจ้าหน้าที่ ที่ยืนอยู่รายล้อม

และในฐานะนักข่าว เราไม่ใช้ผู้ตัดสินอีกเช่นเคย เจ้าหน้าที่ ก็ทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านก็ทำหน้าที่ของชาวบ้าน ในวันที่เราลงพื้นที่เราไม่ได้เห็นภาพบาดแผลของความขัดแย้ง

แต่เรารู้ดีว่ามันเป็นความขัดแย้งหลบใน ตราบใดที่ปริศนาหลายเรื่อง ไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ ภาพของการให้ความร่วมมือก็เป็นแค่ ภาพเบื้องหน้า ส่วนเบื้องหลัง ไม่มีใครรู้ว่าใครคิดอะไร และยังคงเป็นเรื่องราวที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป...

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #VAJIRAVIT #VajiravitDaily #NationTV #Nation

logoline