svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ปิยบุตร" โพสต์ การจัดการ "มรดกบาป" ของ คสช.

15 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุหัวข้อ การจัดการ "มรดกบาป" ของ คสช.

โดยระบุข้อความว่า...
[การจัดการ "มรดกบาป" ของ คสช.]แม้ คสช.จะสลายตัวไปในอีกไม่กี่วันนี้ แต่วิญญาณของ คสช. ยังคงอยู่กับเราโดยแปลงร่างเข้ามาเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่ถูกทำให้เชื่อว่ามาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ คสช.ก็ยังคงทิ้ง "มรดกบาป" ไว้กับเราจำนวนมาก ในรูปแบบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 และผลพวงจากการใช้อำนาจตาม "กฎหมาย" เหล่านี้
ประเทศไทยไม่อาจกลับคืนสู่สภาวะปกติ ไม่อาจกลับสู่ประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐได้เลย หาก "มรดกบาปของ คสช." ยังคงดำรงอยู่พรรคอนาคตใหม่ได้ประกาศนโยบายเรื่องจัดการ "มรดกบาป" คสช." ไว้ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่จึงต้องดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวผ่านกลไกของสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้1. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2560
ดังที่ทุกคนทราบดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่าจะแก้เรื่องใด หมวดใด มาตราใด ก็ทำได้ยากมาก ยากชนิดเรียกได้ว่าในทางปฏิบัติ อาจทำไม่ได้เลย จึงจำเป็นต้องรณรงค์อย่างวงกว้างเพื่อให้สังคมเกิด "ฉันทามติ" เห็นพ้องต้องกันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญนี้ทั้งระบบ จนเกิดกระแสกดดันไปที่องค์กรทางการเมืองทั้งหมดให้ยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้
ในระหว่างรอ "ฉันทามติ" ของสังคม ในสภาก็จำเป็นต้องริเริ่มทดลองแก้ไขรัฐธรรมนูญไปก่อน ถึงแม้ว่าวุฒิสภาอาจจะขัดขวาง แต่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้เกิดเป็นประเด็นสาธารณะ โดยเริ่มจาก "เล็ก" ไป "ใหญ่" ดังนี้
1.1. เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิกมาตรา 272 และมาตรา 279
มาตรา 272 ให้อำนาจวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. เลือกนายกรัฐมนตรี
มาตรา 279 รับรองให้การกระทำทั้งหลายทั้งปวงของ คสช.และหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 60 และชอบด้วยกฎหมาย
1.2. เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้ง่ายขึ้น
1.3. เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 100 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มีเนื้อหาตามกรอบหลักการราชอาณาจักร ความเป็นรัฐเดี่ยว ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การแบ่งแยกอำนาจ และการประกันสิทธิและเสรีภาพ
เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นในขั้นตอนสุดท้าย โดยกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดนี้ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามในกรณีนี้ ดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 และมาตรา 256 ซึ่งกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับหมวด 15 นี้ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ดังนั้น เมื่อพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแล้ว จะต้องมีการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง ได้แก่ การออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติในหมวดที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น2. การจัดการบรรดาประกาศ คำสั่ง คสช.
2.1. เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.
แม้หัวหน้า คสช. พึ่งใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งยกเลิกประกาศ คำส่ง คสช ไปหลายฉบับก็ตาม แต่ก็มีประกาศ คำสั่งอีกหลายฉบับที่กระทบสิทธิมนุษยชน และยังไม่ถูกยกเลิก
2.2. เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และการใช้อำนาจตามมาตรา 44
พรรคอนาคตใหม่ได้เสนอญัตติด่วนนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว และอยู่ในระเบียบวาระการประชุมเรียบร้อย ขณะนี้กำลังรอต่อแถว คาดว่า ภายหลังจากแถลงนโยบายของรัฐบาล น่าจะได้อภิปรายและลงมติในญัตตินี้3. การพิจารณาทบทวน พ.ร.บ.จำนวนมากที่ออกโดย สนช.
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สนช. ได้ตรา พ.ร.บ.ขึ้นจำนวนมาก หลายฉบับมีเนื้อหาที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน มีเนื้อหาไม่เหมาะสม และออกมาโดยเร่งรีบ ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีการอภิปรายท้วงติงอย่างรอบด้าน จึงจำเป็นต้องนำ พ.ร.บ.เหล่านี้ มาพิจารณาทบทวน เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป4. การลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และการต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน
4.1. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยให้ประชาชนออกเสียงประชามติในขั้นตอนสุดท้าย โดยมีบทบัญญัติในส่วนที่ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และการต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน ดังนี้
ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 48 (บทบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย เมื่อบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารตกเป็นโมฆะแล้ว ย่อมหมายความว่า การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 คณะผู้ก่อการรัฐประหารจึงถูกดำเนินคดีได้
บัญญัติให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน
บัญญัติให้การแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น
บัญญัติห้ามมิให้ศาลพิพากษารับรองการรัฐประหารโดยกองทัพและห้ามมิให้ศาลพิพากษารับรองให้คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยบทบัญญัตินี้มีสถานะเป็น "กฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ" หรือ "หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญไทย" แม้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรจะถูกยกเลิก บทบัญญัตินี้ก็ยังคงมีผลในระบบกฎหมายไทยต่อไป
4.2. แก้ไขกระบวนการดำเนินคดีในความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ดังนี้
- บัญญัติให้บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113
- บัญญัติให้มีระบบวิธีพิจารณาคดีแบบเร่งด่วนในความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และศาลต้องพิจารณาพิพากษาให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมงพรรคอนาคตใหม่มี ส.ส.81 คนและเป็นฝ่ายค้าน ทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบาย "จัดการมรดกบาป คสช." ตามที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ นอกจากนี้ การใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร ก็มีข้อจำกัดในตัวเองอีก ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบ กระบวนการขั้นตอนของสภา ที่กินเวลา ญัตติต่างๆต้องเข้าแถวต่อคิว
แต่ข้อจำกัดเช่นว่านี้ ก็มิใช่ข้ออ้างที่จะไม่ทำอะไรเลย
แน่นอนที่สุด สิ่งที่เราต้องการผลักดันในสภา อาจไม่มีอะไรสำเร็จเลย บางเรื่อง อาจโดนขวางจนไม่มีโอกาสได้เริ่มต้นด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องพยายามทำ
ผมขอยืนยันว่า พรรคอนาคตใหม่จะพยายามทำให้ถึงที่สุด ตามสรรพกำลังที่เรามี
เพราะ พรรคการเมืองมีพันธกิจในการนำความต้องการของประชาชน นำมติมหาชน ไปปรากฏตัวในสภาผู้แทนราษฎร

logoline