svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ไม่มีช่วงฮันนีมูน สำหรับรัฐบาล "ลุงตู่ 2"

15 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หากสภาวะการเมืองปกติ หลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล ก็จะมีบรรยากาศที่ทางการเมืองเรียกว่า "ฮันนีมูนพีเรียด" หรือช่วงเวลาดื่มด่ำน้ำผึ้ง ที่สังคมและฝ่ายค้านจะให้โอกาสรัฐบาลทำงานห้วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะเพิ่มความเข้มข้นการตรวจสอบจากเบาไปหาหนัก จนถึงกระบวนท่า "ไล่รัฐบาล"

แต่เริ่มต้นของรัฐบาล "ลุงตู่ 2" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกไล่จากฝ่ายค้านและคนในสังคมที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี จึงมีกระแสการตรวจสอบเข้มข้นแบบไม่ให้โอกาส "ทำงาน" แก่รัฐบาลชุดที่ 62 แม้แต่นาทีแรก
ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นรัฐบาลที่มีผู้นำ คือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมากว่า 5 ปี แม้ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ตาม แต่เพราะการต่อสู้ที่รุนแรงเพื่อช่วงชิง "อำนาจ" ทั้งก่อนและหลัง ทำให้การเมืองต่อไปนี้ไม่มีบรรยากาศ "ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์" ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศที่จะมีการตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มข้น รัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน จะใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเองและพรรคพวกก็พึงระวัง เพราะจะถูกทั้งฝ่ายค้าน และคนในสังคมขึงพืด เผลอๆ คนในฝั่งรัฐบาลจะ "ลากไส้" กันเองในสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำเช่นนี้
ทันทีที่มีการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี ฝ่ายค้านขึ้นบัญชีดำซักฟอกคุณสมบัติ 6 รัฐมนตรี ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 160 หรือไม่ โดยเฉพาะ ในบทบัญญัติ มาตรา 160 (4) ที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า รัฐมนตรีต้อง "(4) มีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์"
โดย 6 รัฐมนตรีที่ถูกขึ้นบัญชีจะถูกขึงพืดในวันแถลงนโยบาย ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ด้วยข้อกล่าวหาในพฤติกรรมแห่งอดีต ที่ยังต้องรอการพิสูจน์ จากทั้งองค์กรอิสระ และศาล แต่กรณีบางคนแม้ว่ากระบวนการยุติธรรมจะพิสูจน์ว่าเขาพ้นความผิดแล้ว ฝ่ายค้านยังลากมาเป็นประเด็น

ไม่มีช่วงฮันนีมูน สำหรับรัฐบาล "ลุงตู่ 2"


แม้ว่าการอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นราว 24-25 กรกฎาคมนี้ จะเป็นการอภิปรายที่ไม่ลงมติ และไม่กระทบกระเทือนต่อ "เสียง" ซึ่งเป็นเสถียรภาพหลักของรัฐบาล แต่การ "หลอกด่า" โดยจับเรื่องนโยบายกับตัวบุคคลที่มีพฤติกรรมอันอาจจะไม่เหมาะสม และรัฐมนตรีคนนั้นไม่สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลและหลักฐานความบริสุทธิ์ของตัวเอง ก็จะบั่นทอน "เครดิต" ทั้งต่อตัวรัฐมนตรีผู้นั้น และต่อตัวนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล
ตรงกันข้ามหากรัฐมนตรีในบัญชีซักฟอกของฝ่ายค้าน เตรียมตัวมาดี สามารถอธิบายเหตุผล แสดงหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ ลบล้างข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านเป็นที่ยอมรับของสังคม รัฐมนตรีคนนั้นและรัฐบาลก็จะสอบผ่านด่านแรก ฝ่ายค้านต้องกลับไป "เลียแผลใหม่" เพราะถือว่า "ทำการบ้านได้ไม่ดีพอ"
ดังนั้นวาระแรกของการอภิปรายนโยบายรัฐบาล จึงไม่ใช่แค่การตรวจสอบรัฐมนตรีและรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นการทดสอบฝ่ายค้านด้วยว่า "ทำได้ดีหรือแค่ราคาคุย" เท่านั่น ที่สำคัญ อย่าเอาหลักฐานปลอมมาใช้ในการอภิปราย เพราะหากถูกจับได้ ความน่าเชื่อถือของผู้กระทำ จะหมดไปทั้งชีวิตทางการเมือง และต้องพิสูจน์ฝีมือขุนพลหน้าใหม่ของฝ่ายค้านว่าจะทำได้ดีเท่ากับ "แกนนำ" พรรคที่ไม่ได้เข้าสภาเพราะกลายเป็นส.ส.สอบตกไปหรือไม่ หากทำได้ดี เราก็เกิด "ดาวสภาดวงใหม่" แต่ถ้าไม่ได้เรื่อง นั่นก็ทำให้ "คนรุ่นใหม่เสียรังวัด" ไปเช่นกัน

คอลัมน์... กวาดบ้านกวาดเมือง โดย... ลมใต้ปีก

logoline