svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นับถือหัวใจ​ 'คนเมืองเพชร'​ ! ค้านมอเตอร์​เวย์​ วัดใจ​ 'รัฐบาลประยุทธ์'​

14 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ลองนึกภาพดูว่าถ้าส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐไม่ทำตามข้อเสนอของคนเพชรบุรี แน่นนอนว่าฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกสั่นคลอนเป็นแน่แท้ หากยังดันทุรังเข็นโครงการมอเตอร์เวย์สายใต้ให้เกิดขึ้นโดยไม่ฟังข้อเสนอของคนเมืองเพชร

"ได้ค่าเวนคืนเป็นเงินก้อน แลกกับที่เขาสร้างถนนไม่ดีหรอครับ" นี่เป็นคำถามจากนักข่าวที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ได้ตามโครงการนี้มาตั้งแต่แรกอย่างผม ที่ลงพื้นที่ทำข่าวคัดค้านโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำในพื้นที่เป็นครั้งแรก

โครงการนี้ไม่ใช่โครงการมอเตอร์เวย์ โครงการแรกที่ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้าน ก่อนหน้านี้มอเตอร์เวย์โคราช ก็ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน และนั่นเป็นโครงการที่ผมได้ลงไปทำข่าวในพื้นที่เห็นถึงความเจ็บปวดของชาวบ้าน แต่ท้ายที่สุดโครงการนี้ก็เดินหน้าต่อเนื่อง จนจะเปิดให้บริการได้ในปลายปีนี้

บทเรียนที่ผ่านมา ทำให้ผมเข้าใจว่าโครงการขนาดใหญ่ที่ผลักดันโดยกรมทางหลวง อย่างเช่นทางมอเตอร์เวย์จะไม่มีชาวบ้านคนไหน สามารถต้านทานแผนการพัฒนาเหล่านี้ได้ และ 'คนเพชรบุรี' ก็น่าจะซ้ำรอยเดียวกันกับ 'คนโคราช' ที่ได้เคยทำข่าวมา

แต่ผมคิดผิด! การได้พูดคุย และทำความรู้จักกับคนเพชรบุรีมากขึ้น ทำให้รู้ว่าไม่ง่ายที่ กรมทางหลวงจะดันโครงการนี้สำเร็จ...

ในช่วงชีวิตของนักข่าวสิ่งแวดล้อม การทำข่าวคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของชาวบ้านเป็นเรื่องปกติ และเป็นสิ่งที่จะได้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ส่วนใหญ่การคัดค้านของชาวบ้านมักไม่ประสบความสำเร็จหากรัฐตั้งใจที่จะเดินหน้าโครงการ

แต่จุดแข็งที่จะคัดค้านหรือต้านทานอำนาจรัฐได้คือความเป็นหนึ่งเดียว และความสามัคคีของคนในชุมชนซึ่งเป็นสิ่งที่คนเมืองเพชรมี และเป็นสิ่งที่ต่างจากพื้นที่อื่น นี่เป็นจุดแข็งของของของคนที่นี่

เอาจริงๆแล้วพวกเค้าไม่ได้มีจุดยืนที่จะคัดค้านแบบหัวชนฝาไม่ให้โครงการเกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีข้อเสนอให้กรมทางหลวง ย้ายเส้นทางมอเตอร์เวย์ที่จะพาดผ่านที่ดินผืนเดิมที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไปอยู่ในอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบน้อยกว่า

แล้วทำไมชาวบ้านที่นี่ถึงหวงห้ามที่ดินผืนนี้ มากขนาดนี้?

ถ้าเปรียบเทียบกัน การเวนคืนที่ดินในภูมิภาคอื่น ชาวบ้านที่นั่นอาจมีที่ดินกันคนละหลายสิบไร่ ซึ่งต่างจากชาวบ้านที่นี่ที่มีคนละ 2-3 ไร่ ที่มีที่ดินกันน้อยไร่ เพราะว่าเมื่อก่อน คนที่นี่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวหนึ่งมีลูกกันหลายคน จึงแบ่งซอยที่ดินให้ลูกทุกคนเท่าๆกัน เช่นถ้ามี 10 ไร่ มีลูก 5 คนก็จะแบ่งได้ คนละ 2 ไร่

แม้ว่าแต่ละคนจะมีพื้นที่ในการทำมาหากินเพียง 2-3 ไร่แต่ ก็เป็นพื้นที่ที่สามารถทำเงินได้ถึงหลักแสนบาทต่อปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ตาลโตนดที่ชาวบ้านสามารถกำหนดราคาได้เองโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เหมือนอย่างข้าว ยาง พารา หรือปาล์มน้ำมัน

ปัจจุบัน น้ำตาลโตนด 1 กิโลกรัมจะมีราคาอยู่ที่ 70-100 บาท ขณะที่ต่อวันนั้นชาวบ้านสามารถที่จะเคี่ยวน้ำตาลขายได้เฉลี่ยวันละ 10-20 กิโลกรัม ก็จะได้เงินรายวันแล้ว วันละ 1,000-2,000 บาท ซึ่งมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำถึง 3 เท่า และมากกว่าเงินมากกว่ารายได้ต่อวันของลูกจ้างประจำในสำนักงานที่กรุงเทพฯด้วยซ้ำไป (มากกว่าเงินเดือนนักข่าวด้วย)

ถ้าเหตุผลหนึ่งของการสร้างมอเตอร์เวย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะเห็นว่าสวนทางและขัดแย้งกันอย่างชัดเจน เพราะว่ากำลังจะทำให้ต้นทุนชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่สูงขึ้น และรายได้ที่เคยได้นะลดลงเพราะต้องเสียพื้นที่ทํากินไป นั่นเป็นเหตุผลที่มากพอที่คนเมืองเพชร จะลุกขึ้นมาต่อต้านอย่างถึงที่สุด และอาจจะต่อต้านรุนแรงกว่านี้

ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือในเวทีเสวนา 'อนาคตเมืองเพชรกับมอเตอร์เวย์สายใต้' ที่มีการเชิญหลายภาคส่วนมานั่งพูดคุย รวมทั้งตัวแทนกรมทางหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ชาวบ้านรู้ดีว่าตัวแทนกรมทางหลวงที่มานั่งฟังปัญหาและอธิบายชี้แจงความจําเป็นในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ไม่ใช่ผู้มีอำนาจในการตัดสินยุติหรือเปลี่ยนแปลงเส้นทางตามข้อเสนอของชาวบ้าน

พวกเขารู้ว่าควรจะใช้กลไกในระบบของสภาผู้แทนราษฎรในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหานี้ เราจึงได้เห็นการฝากการบ้านให้กับส.ส.จังหวัดเพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่ชาวเพชรบุรีเลือกให้เป็นผู้แทนได้หยิบเอาปัญหานี้ไปถกในรัฐสภา เป็นไปได้อยากให้มีการตั้งกระทู้ถามสดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและในฐานะพรรคจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบทบาทในการยุติหรือเปลี่ยนแปลงโครงการนี้ให้เป็นไปตามข้อเสนอของชาวบ้าน

ลองนึกภาพดูว่าถ้าส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐไม่ทำตามข้อเสนอของคนเพชรบุรี ฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกสั่นคลอนอย่างแน่นอน หากยังดันทุรังเข็นโครงการมอเตอร์เวย์สายใต้ให้เกิดขึ้นโดยไม่ฟังเสียงข้อเสนอของคนในพื้นที่

สำหรับคนนอกพื้นที่ อาจรู้สึกว่าคนเพชรบุรีกำลังขัดขวางการพัฒนา และคนที่ต้องเดินทางขนส่งไปยังพื้นที่ภาคใต้ มีเส้นทางไม่กี่เส้น ที่เราคุ้นชินซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กรมทางหลวงต้องการที่จะเพิ่มสายทางในการคมนาคมลงในพื้นที่ภาคใต้

ตลอดระยะเวลา 20 นับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมาจนกระทั่งมีโครงการแหลมผักเบี้ยที่ได้รับการคัดค้านและยุติไป ล่าสุดเมื่อปี 2556 มีโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐมชะอำ แต่ก็น่าจับตาว่าก็คงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก ถ้ากรมทางหลวงไม่นำข้อเสนอของชาวบ้านไปพิจารณา

เราก็คงจะไม่มีเส้นทางอีกเส้นที่จะลงไปในพื้นที่ภาคใต้อย่างแน่นอน

logoline