svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมควบคุมโรค เร่งสอบสวนโรค กรณีเด็กเล็กมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่กาญจนบุรี

11 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์และส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมสอบสวนโรค กรณีที่เด็กเล็กในจังหวัดกาญจนบุรี มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง พร้อมเผยประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยอาการอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน (AFP) มาอย่างต่อเนื่อง หากพบเห็นสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน

11 ก.ค. 62 - นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าเด็กเล็กรายหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี  มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง หลังจากการรับวัคซีนป้องกันโรค  และหยอดโปลิโอ นั้น กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน  กองระบาดวิทยา  สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี  ติดตาม ตรวจสอบข้อเท็จจริง และสนับสนุนเจ้าหน้าที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการสอบสวนโรค  ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบวัคซีนล็อตดังกล่าว และส่งตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วยตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลและข้อสรุปจากผู้เชี่ยวชาญ  ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค จะได้นำรายละเอียดของผู้ป่วยรายนี้ ข้อมูลวิชาการทั้งหมด ตลอดจนแนวทางการติดตามและดูแลผู้ป่วย เข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในช่วงปลายเดือนนี้ด้วย  

ประเทศไทยพบผู้ป่วยโปลิโอรายสุดท้ายในเดือนเมษายน 2540 และอยู่ในสถานะปลอดโรคโปลิโอจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่พบรายงานผู้ป่วยอีก แต่จากสถานการณ์ทั่วโลกที่ยังมีการรายงานโรคโปลิโอต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศปากิสถานและอัฟกานิสถาน ในปัจจุบันเด็กไทยตามช่วงวัยทั่วประเทศได้รับวัคซีนโปลิโอตามกำหนด เพื่อป้องกันบุตรหลานให้ปลอดภัยจากโรคโปลิโอ ที่อาจจะแพร่ระบาดมาจากประเทศอื่นได้  ส่วนอาการผิดปกติที่พบได้หลังจากได้รับวัคซีนโปลิโอ นั้น โดยทั่วไปสามารถพบได้ประมาณ 1 รายต่อผู้รับวัคซีน 2.7 ล้านราย   

กรมควบคุมโรค เร่งสอบสวนโรค กรณีเด็กเล็กมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่กาญจนบุรี



นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า หลังการรับวัคซีนหากมีอาการผิดปกติ เจ้าหน้าที่จะให้การช่วยเหลือโดยเร็ว โดยเฉพาะอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยอาการอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน (AFP) มาอย่างต่อเนื่อง และผู้ป่วย AFP ทุกราย จะทำการส่งอุจจาระเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ ว่ามีเชื้อโปลิโอหรือไม่ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน  เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง   ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรณีที่พบผู้ป่วยสงสัย

logoline