svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ธง แจ่มศรี" ผู้ไม่ยอมเปลี่ยน "สี" ธง

11 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เช้าวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ชมรมมิตรสัมพันธ์ แจ้งข่าวเศร้า "ลุงธง" เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) คนสุดท้าย ได้จากมิตรสหายไปแล้ว เมื่อเวลา 00.30 น. หลังจากมีอาการประสาทหูเสื่อมถอยไม่ได้ยินเสียง ร่างกายจึงพลอยเสื่อมถอย เพราะไม่ได้ขยับมือและร่างกายโต้ตอบกับมิตรสหาย

"ป้าน้ำ" ภรรยาลุงธง และญาติมิตรได้นำศพลุงธงมาตั้งบำเพ็ญกุศลสวดอภิธรรม ที่วัดพระประโทนเจดีย์วรวิหาร อ.เมือง จ.นครปฐม
ลุงธงจากไปในวัย 98 ปี ทิ้งอุดมการณ์และภารกิจเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไว้ให้มิตรสหายรุ่นหลัง ตั้งแต่วัยหนุ่มจนวันสุดท้ายแห่งชีวิต ลุงธงไม่เคยคิดคดทรยศต่อ "อุดมการณ์คอมมิวนิสต์" แม้แต่วินาทีเดียว 
นักสู้อินโดจีน
"ธง แจ่มศรี" เป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนาม เกิดวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2464 ที่บ้านดง หมู่ 8 ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ.พิจิตร บิดาชื่อ หวอตุ่ง มารดาชื่อ ดังกวิ่งแอ็ง สมาชิกขบวนการเอกราชเวียดนาม ที่เดินทางมาเคลื่อนไหวกู้ชาติ โดยใช้บ้านดงเป็นที่พักพิง ซึ่ง "ลุงโฮ" ได้แวะมาอาศัยอยู่ที่บ้านดงระยะหนึ่ง
ช่วงวัยเรียน ธงเข้ารับการศึกษาภาษาไทย และภาษาเวียดนามที่โรงเรียนหนองบัว จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนของสมาคมรักชาติชาวเวียดนาม ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 
วิถีของลูกชายนักสู้เวียดนาม ก็เคลื่อนมาที่บางกอก เข้ารับการศึกษาภาษาจีนขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนหัวเฉียว ซึ่งเป็นโรงเรียนในจัดตั้งของคณะกรรมการคอมมิวนิสต์จีน ธงถูกจับกุมในคดีคอมมิวนิสต์ในปี 2479 และเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สยามในปี 2481
เมื่อบิดามารดากลับไปต่อสู้กู้ชาติที่บ้านเกิดเมืองนอน ธงเข้ามาเรียนหนังสือกับหน่วยพรรคและครูชาวจีนที่เป็นผู้สอน จึงตัดสินใจเข้าร่วม พคท.ก่อการปฏิวัติไทย
เดือนมีนาคม 2485 ธงเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใต้ดินภาษาไทยฉบับแรกของพรรคชื่อ "มหาชน" ก่อนจะมีการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ธงได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางชุดที่ 1 และได้รับมอบหมายจากพรรค ให้ดูแลงานกรรมกรในโรงงานยาสูบสะพานเหลือง
ช่วงที่ พคท.ยังไม่ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ธงบุกเบิกงานชาวนาภาคอีสาน และเดินทางไปเขตจรยุทธ์ประเทศลาว ในช่วงปี 24922494
หลังการประชุมสมัชชาพรรค ครั้งที่ 2 ในปี 2495 ธงได้รับเลือกเป็นหนึ่งในกรมการเมือง เดินทางไปศึกษาที่สถาบันลัทธิมาร์กซเลนิน สาขากรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
กลับจากปักกิ่ง ธงยังเคลื่อนไหวงานด้านกรรมกร และทำหนังสือพิมพ์มหาชน ในปี 2504 ธงได้สมรสกับกรรมกรหญิงโรงงานทอผ้ากรุงเทพฯ
สู่ดงพระเจ้า
ปี 2504 มีการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 ธงยังได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางและกรมการเมือง ระหว่างนั้น ประเทศไทยตกอยู่ในอำนาจการปกครองแบบเผด็จการ และสหรัฐอเมริกา เริ่มเข้ามาสร้างฐานทัพในไทย พคท.จึงวางยุทธศาสตร์ "สู่ชนบท" และเตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธ
พคท.ประเมินสถานการณ์ภายหลัง จอมพล ส.ธนะรัชต์ สั่งประหารชีวิตครูครอง จันดาวงศ์ เกรงประชาชนจะสิ้นขวัญกำลัง จึงมีมติส่ง "สหายระดับนำ" ธง แจ่มศรี เข้าไปที่ดงพระเจ้า โดยปักหลักอยู่ที่บ้านเหล่าใหญ่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
ช่วงการเดินทางจากกรุงเทพฯ-ดงพระเจ้า ธงถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่การประชุมคณะกรรมการกลางชุดที่ 3 ครั้งที่ 3 ที่ปักกิ่ง ในปี 2515 ธงยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในกรมการเมืองประจำ โดยที่เจ้าตัวยังอยู่ในคุก จนถึงปลายปี 2516 จึงได้รับการปล่อยตัว และหวนกลับเข้าป่าอีกในช่วงต้นปี 2517 
กลางวิกฤติ พคท.
ช่วงปี 2521-2523 เป็นช่วงวิกฤติภายใน "พรรคพี่น้อง" เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามส่งกำลังทหารเข้ายึดกรุงพนมเปญ และพรรคคอมมิวนิสต์จีน เปิดสงครามสั่งสอนกับเวียดนาม 
พคท.ได้รับผลกระทบ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เสนอให้สถานีวิทยุกระจายเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ที่เมืองคุนหมิง งดการโจมตีรัฐบาลเกรียงศักดิ์ เพราะจีนต้องพึ่งรัฐบาลไทยส่งอาวุธไปช่วยเขมรแดงรบเวียดนาม
ธงและสหายนำบางส่วนเห็นว่า หากจะให้ลดการโจมตีรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ก็ปิดสถานีไปเลยดีกว่า จึงนำมาซึ่งการปิดสถานีวิทยุที่คุนหมิง
อีกกรณีหนึ่ง "สหพันธรัฐอินโดจีน" ธงไม่เห็นด้วยในข้อเสนอเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่พรรคเวียดนามจะเข้ามาช่วยปลดปล่อยภาคอีสานของไทย ในปี 2520 
เนื่องจากการนำกองกำลังติดอาวุธพรรคเวียดนามเข้ามาช่วยปลดปล่อยประเทศไทยนั้น หากประชาชนไม่ยอมรับพรรคเวียดนามก็จะกลายเป็นผู้รุกราน พคท.ก็จะกลายเป็นผู้สนับสนุนทหารต่างชาติให้เข้ามารุกรานประเทศตัวเอง
ปี 2525 ก่อนการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 4 เจริญ วรรณงาม หรือ "สหายมิตร สมานันท์" เลขาธิการ พคท. เสียชีิวิต ในปีเดียวกันนั้น ได้ย้ายศูนย์การนำจากน่าน ไปที่สุราษฎร์ธานี เพื่อเปิดประชุมสมัชชาพรรคและธงได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ พคท. มีนามจัดตั้งว่า "สหายประชา ธัญญไพบูลย์"
ช่วงปลายปีเดียวกัน ธงย้ายมาประจำอยู่ที่เขตงานภาคตะวันตก-ภาคใต้ เนื่องจากที่มั่นทางการทหารในภาคใต้ถูกล้อมปราบอย่างหนัก 
ผู้ไม่ยอมจำนน
ระหว่างปี 2526-2533 คณะผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชุดสมัชชา 4 ถูกจับกุมเกือบหมดในปี 2527 แต่องค์การนำบางส่วนได้ไปยอมรับมาตรา 17 สัตตะ บางส่วนก็ไปอยู่ต่างประเทศกว่า 10 ปี
ธงไม่ได้มอบตัว แต่ใช้ชีวิตอยู่แถวป่าตะนาวศรี จนถึงปี 2536 จึงมาใช้ชีวิตเงียบๆ ที่นครปฐม กระทั่ง พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ถูกยกเลิกในปี 2542 ธงจึงเริิ่มพบปะผู้คนมากขึ้น และเปิดใจให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกผ่านทีมงานนิตยสารสารคดี
ปี 2551 ธงได้ออกคำแถลงในนามส่วนตัว เนื่องในวันก่อตั้งพรรคครบรอบ 66 ปี ว่าองค์การนำของพรรคชุดสมัชชา 4 สิ้นสภาพไปแล้ว เมื่อไม่ได้ชี้นำการเมืองใดๆ เป็นเวลานาน ในที่สุดองค์การนำก็สิ้นสภาพ ไม่สามารถนำการปฏิวัติต่อไปได้
ปี 2553 ธงได้ลาออกจากเลขาธิการพรรค คณะกรรมการกลาง พคท.ที่เหลืออยู่ ได้มีการเลือกสหายวิชัย ชูธรรม เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มสหายนำที่ยังศรัทธาเลขาธิการคนเดิม
ด้วยเหตุนี้ มิตรสหายจึงขนานนามให้ ธง แจ่มศรี เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคนสุดท้าย เพราะเป็นสหายผู้ยึดมั่นอุดมการณ์ลัทธิมาร์ซ-เลนิน และไม่เคยคิดจะเปลี่ยนสีธงเหมือนสหายนำกลุ่มอื่น

logoline