svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หมอแนะวิธีเลือกรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคตับ

09 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ แนะวิธีเลือกรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคตับ ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน ชะลอความรุนแรงของโรค และมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น ไม่ควรบริโภคธัญพืช ผักใบเขียวในปริมาณมากเกินไปเพราะจะเกิดอาการแน่นท้องมากขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาทควรปรึกษาแพทย์

9 ก.ค. 62 - นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตับเป็นแหล่งสะสมวิตามินต่างๆ และทำหน้าที่ขจัดสารพิษที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับอักเสบเฉียบพลัน ถ้าเป็นอยู่ในระยะสั้นจะไม่ส่งผลต่อภาวะโภชนาการมากนัก แต่ถ้าเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับจะทำให้สารอาหารต่างๆ ที่รับประทานเข้าไปไม่ถูกเผาผลาญและนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ร่างกายจึงได้รับสารอาหารไม่เพียงพอและมีผลต่อภาวะโภชนาการ ดังนั้นโรคตับจึงมีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วย ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

หมอแนะวิธีเลือกรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคตับ

นายแพทย์สุกรม ชีเจริญ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาหารบำบัดโรคตับจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1.อาหารบำบัดโรคตับอักเสบ ขณะที่ผู้ป่วยเบื่ออาหารอาจช่วยได้โดยให้อาหารเหลวแต่มีคุณค่ามาก เช่น อาหารที่ทำจากไข่ นม น้ำตาล ไอศครีม เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น รับประทานอาหารธรรมดาได้จึงจัดอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนให้ 2.อาหารบำบัดโรคตับแข็ง แพทย์จะสั่งเพิ่มหรือลดปริมาณโปรตีนให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน ระยะแรกของการเป็นตับแข็งที่ยังไม่มีผลทางสมอง สามารถได้รับปริมาณโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ไม่แตกต่างจากคนทั่วไปประมาณวันละ 6-12 ช้อนโต๊ะ ได้แก่ นม ไข่ทั้งฟอง เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมูแต่ถ้าเป็นตับแข็งที่มีอาการทางสมองร่วมด้วย จะลดให้มาเหลือประมาณวันละ 2-3 ช้อนโต๊ะ หรืองดโปรตีนไประยะหนึ่ง เลือกรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่มีโปรตีนต่ำ เช่น วุ้นเส้น แป้งซาหริ่ม เส้นเซี่ยงไฮ้ แป้งสาคู แป้งมัน วิตามิน B1, B2, B6 และ B12 รับประทานอาหารปรุงสุกโดยเฉพาะอาหารทะเล ลดไขมัน 3.อาหารบำบัดโรคมะเร็งตับ ช่วงแรกของการเกิดโรคควรได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากเนื้อปลา ไข่ไก่ บริโภคไขมันแต่น้อย เพื่อป้องกันภาวะแน่นท้อง ท้องอืด เกิดแก๊สในทางเดินอาหาร หากมีอาการบวมน้ำควรเสริมด้วยไข่ขาว อาจจะรับประทานไข่ลวกวันละ 2 ฟอง รับประทานคาร์โบไฮเดรตประเภทข้าว น้ำหวาน (เพิ่มได้ในรายที่ไม่เป็นเบาหวาน) ไม่ควรบริโภคธัญพืช ผักใบเขียวในปริมาณมากเกินไปเพราะจะเกิดอาการแน่นท้องมากขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาทควรปรึกษาแพทย์

logoline