svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ขนส่งฯ เตรียมหารือเมียนมากำหนดวันเริ่มเดินรถ

08 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมการขนส่งทางบก เผย!!! ความคืบหน้าการคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย-เมียนมา คัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งได้ครบ 100 ฉบับตามโควตาแล้ว ขั้นต่อไปเตรียมหารือเมียนมากำหนดวันเริ่มเดินรถ

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ประเทศไทยและเมียนมาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย-เมียนมา (ณ จุดผ่านแดนแม่สอด-เมียวดี) และบทเพิ่มเติม (Addendum) ในคราวการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี (JC GMS CBTA) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ให้สิทธิแต่ละฝ่ายในการออกใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) ไทย-เมียนมา จำนวนฝ่ายละ 100 ฉบับ โดยเส้นทางในการเดินรถได้มีการกำหนดไว้แล้วคือ เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (เมาะลำไย-เมียวดี-แม่สอด-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร) รวมถึงเส้นทางไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาในเมียนมา เมืองย่างกุ้ง กรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังในไทย (ผ่านเส้นทางกอกะเร็ก-กอนโด-ซาทาพิน-ท่าตอน และ/หรือ กอกะเร็ก-กอนโด-พะอัน-ท่าตอน)


ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกและกลั่นกรองผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้ออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างประเทศ ภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างวันที่ 25 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมีผู้ประกอบการขนส่งให้ความสนใจยื่นคำขอเนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาสในการประกอบธุรกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบจัดสรรใบอนุญาตขนส่งทางถนนแก่ผู้ประกอบการขนส่งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวนทั้งสิ้น 100 ฉบับ ครบถ้วนตามสิทธิที่แต่ละประเทศได้รับ ในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินงานของฝ่ายเมียนมา ประเทศไทยโดยกรมการขนส่งทางบกร่วมกับกรมศุลกากรได้จัดอบรมเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) และการออกเอกสารนำเข้าชั่วคราว (Temporary Admission Document: TAD) ให้แก่ผู้แทนจากกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารและกรมศุลกากรของเมียนมา เพื่อเป็นแนวทางให้กับเมียนมาสำหรับการดำเนินการ ก่อนทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันกำหนดวันในการเดินรถ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้เกิดการขนส่งทางถนนระหว่างไทย-เมียนมาโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระบบโครงข่ายคมนาคมประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 

logoline