svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

หมอระวีดักคอ ครม. อย่า'ทิ้งทวน'ขยายสัมปทาน BEM

05 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในการประชุมสภาฯล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ยังคงไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณากรณีบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. มีมติให้ขยายอายุสัมปทานทางด่วน 30 ปี รวม 3 โครงการให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เพื่อแลกกับค่าโง่และการยุติข้อพิพาท 17 คดี โดยคาดว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการได้ในการประชุมวันที่ 10 กรกฎาคมนี้

ในการประชุมสภาฯล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ยังคงไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณากรณีบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. มีมติให้ขยายอายุสัมปทานทางด่วน 30 ปี รวม 3 โครงการให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เพื่อแลกกับค่าโง่และการยุติข้อพิพาท 17 คดี โดยคาดว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการได้ในการประชุมวันที่ 10 กรกฎาคมนี้
จากการตรวจสอบของทีมข่าวเนชั่นทีวี พบว่าญัตติดังกล่าวเสนอโดยหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ซึ่งถูกเลื่อนมาหลายสัปดาห์แล้ว และมีความพยายามใช้ "วิชามาร" เพื่อยื้อญัตตินี้ออกไป
เห็นได้จากในการประชุมสภาฯล่าสุด ได้มีการเพิ่มผู้อภิปรายในญัตติด่วนเรื่องปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ พร้อมยื่นญัตติเรื่องเดียวกันซ้อนเข้ามาถึง 11 ญัตติ ทำให้มีผู้อภิปรายจำนวนมาก จนต้องปิดการประชุมก่อนจะได้พิจารณาญัตติค่าโง่ทางด่วน ทั้งที่วิปทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้หารือและเห็นพ้องกันว่าจะมีการพิจารณาญัตตินี้ในวันที่ 4 กรกฎาคม เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯตรวจสอบ แต่สุดท้ายก็ถูกเลื่อนออกไป
นอกจากนั้น ยังมีความพยายามล็อบบี้ให้ตัวแทนวิปรัฐบาลเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชุดนี้แทนหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ทั้งที่ ส.ส.ฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมากไม่เห็นด้วย
เมื่อการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังยื้อออกไป ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเรื่องนี้ในวันอังคารที่ 9 กรกฎาคมนี้ เพราะไม่มีกระบวนการของสภาฯไปสกัดไว้ การประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารหน้า จึงถือเป็น "วันอันตราย" สำหรับการรักษาผลประโยชน์ของชาตินับแสนล้านบาท
ขณะที่นายแพทย์ระวี ตั้งความหวังว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 กรกฎาคม จะไม่มีวาระเรื่องการขยายอายุสัมปทานทางด่วน 30 ปี รวม 3 โครงการให้กับ BEM เพื่อรอให้รัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา โดยมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะรับฟังคำทักท้วง เพราะล่าสุดรัฐบาลเปิดไฟเขียวให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเพื่อศึกษาเรื่องนี้ และพรรคร่วมรัฐบาลได้ข้อสรุปในทิศทางเดียวกัน
โดยคาดว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการได้ในวันที่ 10 กรกฎาคม และที่สำคัญขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนสถานะจากการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.มาเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแล้ว การจะตัดสินใจเรื่องใดจึงต้องฟังเสียงประชาชน และเรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติกว่า 8.5 แสนล้านบาทอีกด้วย
คงต้องวัดใจนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ จะยอมให้มีวาระการขยายอายุสัมปทานให้ BEM ตามข้อเสนอของบอร์ด กทพ.หรือไม่ ท่ามกลางเสียงทักท้วงของหลายฝ่ายที่เห็นตรงกันว่าเป็นแนวทางที่ทำให้ภาครัฐและประชาชนเสียประโยชน์
ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน

logoline