svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศพร้อมรับมวลน้ำจากพายุ "มูน"

04 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สทนช. หารือหน่วยเกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์พายุ "มูน" ส่งผลดีเติมน้ำในแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ-อีสานเพิ่มขึ้นหลังเขื่อนทั้งประเทศขนาดใหญ่-กลางน้ำน้อยกว่า 30% ยังมีกว่า 144 แห่ง ยังเดินหน้าเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกแห่ง พร้อมคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เหตุฝนส่อทิ้งช่วง 5-15 ก.ค.นี้ โดยกำหนดเกณฑ์ติดตามฝนตกน้อยใน 15 วัน น้อยกว่า 30 มม. เพื่อชี้พิกัดให้ความช่วยเหลือ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามสถานการณ์อากาศ ฝน และปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์และมาตรการรองรับ โดยพบว่า ขณะนี้พายุโซนร้อน "มูน" (Mun) บริเวณอ่าวตังเกี๋ย เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามแล้ว คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับในระยะต่อไป แต่ยังคงส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งจากการติดตามปริมาณฝนสะสม 3 วัน พบว่ามีปริมาณฝนสะสมสูงสุด บริเวณ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด อ.เมือง จ.นครพนม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ โดยได้มีการแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและดินโคลนถล่ม บริเวณ จ.พิษณุโลก 1 หมู่บ้าน จ.เพชรบูรณ์ 18 หมู่บ้าน และเตรียมพร้อม 4 หมู่บ้าน จ.เพชรบุรี 5 หมู่บ้าน ส่วนการคาดการณ์ฝนตกหนักวันนี้(4ก.ค.62) บริเวณ จ.น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี และจ.ตราด และพรุ่งนี้(5ก.ค.62) บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดการณ์มีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก เลย กาญจนบุรี จันทบุรี และจ.ตราด

อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศพร้อมรับมวลน้ำจากพายุ "มูน"

"จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน"มูน" พบว่า เป็นผลดีในหลายพื้นที่ ทั้งที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตรกรที่มีปริมาณน้ำน้อย ขณะเดียวกันยังส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้น 243 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งมีถึง 207 ล้าน ลบ.ม. ไหลลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอ่างฯ ในพื้นที่ภาคเหนือ 5 แห่ง จากทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนภูมิพล ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้น 8 แห่ง จากทั้งหมด 13 แห่ง ได้แก่ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนสิรินธร และเขื่อนลำตำคอง ซึ่งจากการวิเคราะห์สถานการณ์ สามารถประเมินได้ว่า ปริมาณน้ำทั้งหมดจากอิทธิพลของพายุลูกนี้จะมีไม่ถึง 300 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังได้คาดการณ์อีกว่า หลังจากวันนี้ไปจนถึงวันที่ 15 ก.ค. ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุใดๆ ว่าจะมีพายุเข้ามาอีก จะมีเฉพาะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เท่านั้น" นายสมเกียรติ กล่าว

อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศพร้อมรับมวลน้ำจากพายุ "มูน"

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำปัจจุบันในภาพรวม ยังไม่เป็นที่น่ากังวล เนื่องจากอ่างฯ หลายแห่งยังมีปริมาณน้ำน้อย จึงมีความสามารถในการรองรับน้ำฝนในฤดูฝนปี 2562 นี้ได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่น้ำน้อยกว่า 30% มีจำนวน 16 แห่ง และมีมากกว่า 30% แต่ไม่ถึง 60 % จำนวน 19 แห่ง มีเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่ปริมาณน้ำมากกว่า 60% แต่ไม่ถึง 80% ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลาง จากจำนวนแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมด 38 แห่ง อ่างฯ ขนาดกลาง ปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 128 แห่ง ซึ่งสทนช.ได้ประสานให้หน่วยงานรับผิดขอบแหล่งน้ำต่างๆ ยังต้องเร่งเก็บกักน้ำให้มากที่สุดในช่วงฤดูฝนนี้ เพื่อให้เพียงพอกับน้ำต้นทุนในฤดูแล้งในปีถัดไป เนื่องจากยังไม่มีแหล่งเก็บน้ำใดที่จำเป็นต้องเร่งการระบายน้ำ

อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศพร้อมรับมวลน้ำจากพายุ "มูน"

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้มีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ทิ้งช่วงในระหว่างวันที่ 5 15 กรกฏาคมนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ประเทศไทยตนบนมีฝนน้อยทั้งปริมาณและการกระจายตัวของฝน ดังนั้น สทนช.จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ปริมาณฝนสะสมที่ตกติดต่อกัน 15 วัน ปริมาณฝนน้อยกว่า 30 มิลลิเมตร เพื่อให้ได้พื้นที่ที่แม่นยำชัดเจนที่อาจจะเสี่ยงกับภาวะขาดแคลนน้ำที่จะกระทบกับการอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ จะนำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงเบื้องต้นให้ความช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรต่อไป พร้อมทั้ง สทนช.ยังได้มีการวิเคราะห์ ติดตาม ปริมาณฝนและน้ำไหลเข้าอ่างฯ (Inflow) ล่วงหน้า 7 วัน เพื่อคาดการณ์ทั้งแนวโน้มปริมาณน้ำทั้งในกรณีน้ำน้อยหรือน้ำมาก นำไปสู่การดำเนินการประสานหรือการแจ้งเตือนหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการน้ำของทุกหน่วยงานด้านน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ และป้องกันผลกระทบล่วงหน้าด้วย

อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศพร้อมรับมวลน้ำจากพายุ "มูน"

.

อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศพร้อมรับมวลน้ำจากพายุ "มูน"

logoline