svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สรท. หั่นเป้าส่งออกเหลือโตติดลบ 1%

02 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สภาผู้ส่งออกฯ ปรับเป้าส่งออกปี 62 เหลือโต -1 ถึง 0% จากปัจจัยค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว-สงครามการค้ายืดเยื้อ การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ล่าช้า

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ แถลงข่าวร่วมกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ณ ห้องประชุม 1 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชั้น 32 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ เมื่อวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2562 ระบุ การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2562 มีมูลค่า 21017.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -5.8 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 663,647 ล้านบาท หดตัว -4.0 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนพฤษภาคม 2561 มีมูลค่า 20,836.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 666810.3 ล้านบาท ขยายตัว 1.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนพฤษภาคม 2562 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 182 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขาดดุล -3,163 ล้านบาท 
ทั้งนี้ ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- พ.ค. ปี 2562 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 101,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 3,204,470 ล้านบาท หดตัว -2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 100,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -1.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 3,229,146 ล้านบาท หดตัว -0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. 2562 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 731 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขาดดุล -24,677 ล้านบาท 
ทั้งนี้ สรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 62 โต -1 - 0% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33.0 ( 0.5) บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 = 30.765 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.37 30.78 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ 1) ไทยในฐานะประธานอาเซียน สนับสนุนกรอบกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP แล้วเสร็จภายในปี 2562 ซึ่งสมาชิกมีมูลค่าการค้ารวมกันกว่ากว่า 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 29 ของมูลค่าการค้าโลก 2) การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดีในหลายตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดียและตลาดดาวรุ่ง เช่น แคนาดา รัสเซียและซีไอเอส โดยสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเครื่องสำอาง ยังขยายตัวได้ดีมาก 3) ผลการตัดสินของ WTO กรณีที่จีนผิดข้อตกลง WTO ในการจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรจำพวกข้าวและข้าวโพดตามที่สหรัฐอเมริกาได้ทำการฟ้องร้อง อาจเป็นโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้น 4) กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการจัดสรรงบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์) ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ 5) สหรัฐฯ ยืนยันไม่ขึ้นภาษีส่วนที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากจีน และส่งสัญญาณกลับมาสู่การเจรจากันอีกครั้ง ทำให้บรรยากาศการค้าโลกดีขึ้น 
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) ความผันผวนของค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในข่วงที่ผ่านมากว่าร้อยละ 4.4 (YTD) และร้อยละ 7 (Y-o-Y) ซึ่งไม่สอดคล้องกันสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และความไม่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายเพื่อจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยและภาครัฐ อีกทั้งแรงหนุนจากปัจจัยภายนอกธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจส่งผลต่อเงินสกุลดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก สะท้อนมายังค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง และสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง 2) สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดซัพพลายสินค้าหลายรายการของไทยปรับลดการนำเข้าอย่างเห็นได้ชัด เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า สินค้าเกษตรข้าว มันสำปะหลังและยางพารา ส่งผลให้การส่งออกไทยไปจีนเดือน พ.ค.หดตัว 7.2 ขณะที่สะสม 5 เดือนหดตัวอยู่ที่ 7.9 รวมถึงตลาดส่งออกหลักอื่นๆ 3) ราคาน้ำมันที่มีความผันผวนจากมาตรการการคว่ำบาตรของสหรัฐต่ออิหร่านมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางลำเลียงน้ำมันในตะวันออกกลางผ่านช่องแคบฮอร์มุสและเหตุการณ์เรือขนส่งน้ำมันระเบิดกลางทะเลและโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐและสิงคโปร์ระเบิด ทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง และต้นทุนที่ต้องจัดการมากขึ้น 4) สินค้าโภคภัณฑ์ ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท 5) ปัจจัยด้านโครงสร้าง ได้แก่ เทคโนโลยีที่ล้าสมัยในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งอาจไม่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีความพร้อมในด้านปัจจัยโครงสร้างมากกว่า เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นต้น
ข้อเสนอแนะที่สำคัญโดย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 1) ภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ โดยการใช้มาตรการปกป้องค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น 1) การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2) มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ผิดปกติ เช่น สนับสนุนให้นักลงทุนในประเทศออกไปลงทุนในต่างประเทศซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจและนักลงทุนไทยขยายกิจการและเครือข่ายการลงทุนไปยังต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ต้องบริหารจัดการค่าเงินไม่ให้มีความผันผวนขึ้นลงมากเกินไป จนกระทบถึงต้นทุนการส่งออกโดยการพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการเครื่องมือประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนจากปัจจัยของการแข็งค่าของเงินบาทที่ไม่อาจคาดการณ์ได้มารองรับ อาทิ 1) บริการบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือ Foreign Currency Deposit: FCD 2) การใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 3) การประกันค่าเงิน Fx-Option หรือ สัญญา Fx-Forward ประกันความเสี่ยง เป็นต้น 
2) ขอให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมืองโดยเร็ว และขอให้รัฐบาลใหม่เร่งสนับสนุนภาคการค้าระหว่างประเทศ ในด้านต่างๆ โดยเร็ว ดังนี้ 1) สนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ให้ได้มากที่สุด เช่น FTA ไทย-อียู ไทย-ปากีสถาน RCEP และ CPTPP เป็นต้น และการเปิดตลาดใหม่หรือตลาดทดแทน (Market diversification) ไม่แน่นอนของสงครามทางการค้า 2) ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบทางการค้าที่ยังคงเป็นอุปสรรค เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูงจากปัจจัยภายในและภายนอก 3) ส่งเสริมการพัฒนาปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการค้าและการลงทุน 4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะ 4.1) การพิจารณาลดต้นทุนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ชายฝั่งและลำน้ำภายในประเทศ โดยให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยพิจารณายกเลิก ประกาศการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่อง "กำหนดอัตราค่าภาระของเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ของท่าเรือแหลมฉบัง" ซึ่งได้ยกเลิกส่วนลด 50% สำหรับค่ายกขนสินค้าของเรือชายฝั่ง โดยมีผลตั้งแต่ 1 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา รวมถึง ขอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยพิจารณายกเว้นค่า Cargo Dues สำหรับกรณีของเรือขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งด้วยเรือ Barge จากท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านร่องน้ำสันดอนเจ้าพระยา และ 4.2) เร่งแก้ไขปัญหาการตรวจจับรถหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ชนิด High Cube ซึ่งมีความสูงเกินกว่า 4.2 เมตร เนื่องจากเป็นตู้สินค้าที่ใช้กันตามปกติสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ

logoline