svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แชร์ประสบการณ์ติดคุก "สุริยะใส-พิภพ" ชี้เศรษฐศาสตร์เรือนจำสร้างรายได้ดี

29 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

2 คนดังแชร์ประสบการณ์ติดคุก 3 เดือน แดนวีไอพีมี 4-5 บ้านใหญ่ เศรษฐศาสตร์ในเรือนจำสร้างรายได้ดี ทำนักโทษบางคนไม่อยากพ้นเรือนจำ จ่อเข้าพบรมว.ยุติธรรมเรียกร้องปฏิรูประบบยุติธรรม

ชี้ตำรวจ-ทนาย ชอบแนะผู้ต้องหารับสารภาพเพื่อปิดคดีเร็ว ทำคนจนเสี่ยงติดคุกสูง ขณะที่ทัศนคติสังคมภายนอกต้องการให้นักโทษลำบาก ตั้งแง่รังเกียจทำผู้พ้นโทษไม่มีที่ยืนต้องวนเวียนเข้าออกเรือนจำ เสนอสถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรคุกศึกษา
มหาวิทยาลัยรังสิต 29 มิ.ย.62 เวลา 13.00-16.00 น. สถาบันปฏิรูปประเทศไทยร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม จัดเวทีเสวนาเรื่องปฏิรูประบบยุติธรรม เสียงสะท้อนจากเรือนจำ โดยนายสุริยะใส กตะศิลา และนายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตผู้ต้องโทษจำคุก ในคดีบุกรุกปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลนายสุริยะใส ถ่ายทอดประสบการณ์ในเรือนจำว่า การเข้าไปติดคุกเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ทำให้รู้ว่าคนติดคุกไม่ใช่โจรหรืออาชญากรที่คนข้างนอกจะไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย วันแรกที่ถูกใส่กุญแจมือนำตัวไปเรือนจำ ตนถึงกับน้ำตาคลอ แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกเหมือนทำสงครามในใจและต้องสู้กับตัวเอง คือวันแรกที่ต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดนักโทษ เยี่ยมญาติวันแรก และวันที่ต้องเบิกตัวออกศาล ซึ่งนักโทษต้องใส่โซ่ตรวนหรือกุญแจมือ อาหารในเรือนจำเป็นระบบผูกขาด มีนักโทษเป็นผู้ปรุง ทำให้รสชาติกินยาก ถ้าต้องการเมนูพิเศษนอกเหนือจากเมนูทั่วไป อาทิ ข้าวไข่เจียว กะเพราะหมูยอ ก็ต้องใช้วิธีพิเศษ เป็นเศรษฐศาสตร์ในคุกที่นักโทษหาช่องทางบริหารจัดการกันเอง
ทำให้นักโทษบางคนไม่อยากพ้นโทษ เพราะมีรายได้ในเรือนจำสูงถึง 40,000 บาทต่อเดือน รายได้มาจากค่าจ้างซักผ้าผืนละ 15 บาท และค่าอำนวยความสะดวกอื่นๆ แม้เรือนจำจะมีระเบียบห้ามนักโทษถือเงินสด โดยนักโทษเข้าใหม่ญาติต้องเปิดบัญชีเงินฝากให้ การใช้จ่ายจะต้องสแกนนิ้วมือ ค่าอำนวยความสะดวกต่างๆ ญาติจะจ่ายกันข้างนอก โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับเพื่อนผู้ต้องขัง
ในเรือนจำมีทั้งมุมขาวและดำ มีอาญากรตัวจริง นักค้ายา มือปาระเบิดใส่ม็อบ กปปส. หรือคนคิดต่างทางการเมือง ผมได้เจอกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ในคุกทุกคนมีสถานะเดียวกันคือเป็นนักโทษ ไม่มีใครได้สิทธิพิเศษ
"87 วันที่ติดคุก ไม่เคยได้สัมผัสห้องแอร์ ผมจัดเลี้ยงวันเกิดในเรือนจำ เลี้ยงอาหารนักโทษทั้งแดนเป็นงานเลี้ยงวันเกิดที่แพงที่สุด ภายในแดน 1 หรือแดนแรกรับ ซึ่งจัดเป็นแดนวีไอพี มีอยู่ 4-5 บ้าน ได้แก่ กลุ่มของนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา หรือเสี่ยบิ๊ก คดีทุจริต สกสค. อดีตประธานสโมสรเพื่อนตำรวจ, นายธาริต, นายสุพจน์, กลุ่มอดีตเจ้าคุณคดีเงินทอนวัด และกลุ่มแกนนำพธม." นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า ตนอยากเสนอให้มีคุกนักโทษการเมือง คุกยาเสพติด หรือคุกสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อจำแนกผู้ต้องขังให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด ส่วนตัวมองว่าการสูญเสียอิสรภาพเป็นความทุกข์สูงสุด ทำให้คุณค่าความเป็นคนหายไปครึ่งหนึ่ง หลายคนตั้งคำถามว่าจะปฏิรูปคุกได้หรือไม่ แค่ทำให้ห้องน้ำสะอาด นอนสบาย อาหารอร่อย ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนทัศนคติสังคมภายนอกด้วยว่า การลงโทษอย่างไรจึงจะเหมาะควร ไม่ถึงขนาดต้องเปลี่ยนให้เป็นคุกแบบประเทศนอร์เวย์ ที่มีห้องออกกำลังกาย มีเกมส์ให้เล่น เพราะญาติผู้เสียหายได้เห็นจะรับได้หรือไม่ เรื่องคุกจึงไม่ใช่ภาระของราชทัณฑ์อย่างเดียวแต่เป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องร่วมมือกันให้ผู้พ้นโทษมีที่อยู่ที่ยืนนายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ระบบยุติธรรมมีความพิกลพิการจนทำให้คนถูกส่งเข้ามาติดคุกจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะคนจนที่ไม่สามารถจ้างทนายเก่งๆที่มีประสบการณ์ บางคนถูกตำรวจตั้งข้อหาเกินจริงหรือบางคดีถึงขั้นยัดข้อหา แม้จะมีกองทุนยุติธรรมให้ความช่วยเหลือแต่ก็ไม่เพียงพอ การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมทำให้เกิดสภาพคนล้นคุก ถ้าแก้ปัญหาที่ต้นทางได้จำนวนผู้ต้องขังจะลดลงได้
ด้านนายพิภพ กล่าวว่า ระเบียบเรือนนอนปิดประตูเวลา 15.30 น. จากนั้นกุญแจจะถูกนำไปเก็บนอกแดน สิ่งที่นักโทษระวังมากที่สุดคือต้องไม่เจ็บป่วยเวลากลางคืน เพราะกว่าจะเบิกกุญแจมาเปิดแดนได้ต้องใช้เวลานาน ตนจึงเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเตรียมจะเสนอความเห็นกับว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้แก้ระเบียบเรือนจำให้ปรับชั้นนักโทษทุกเดือนเพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้ต้องขัง เปลี่ยนเรือนจำให้เป็นมหาวิทยาลัย และไม่ควรนำคนสูงอายุหรือผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีมาขังคุกแต่ควรควบคุมด้วยกำไลอิเล็กทรอนิกส์ จนทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก สำหรับปัญหาการกระทำผิดซ้ำเกิดจากผู้ที่มีประวัติต้องโทษจะถูกปฏิเสธงาน เป็นทัศนคติแง่ลบของสังคมภายนอก จนทำให้นักโทษไม่มีที่ยืนจนต้องวนเวียนเข้าออกเรือนจำ
นักการเมืองไม่เคยสนใจสภาพคุก ไม่เคยเพิ่มงบประมาณให้เรือนจำ ขณะที่คำตัดสินของศาลส่งคนเข้าคุกเป็นจำนวนมาก นักโทษจะมีความสุขที่สุดคือตอนเช้าเมื่อประตูเรือนนอนถูกเปิดออก คนเราจะมีความสุขเมื่อได้กินอาหารอร่อยและอยู่สบาย แต่ทั้งหมดกรมราชทัณฑ์แก้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนทัศนคติของสังคมภายนอกด้วย
ทั้งนี้ ขอเสนอให้สถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรคุกศึกษา เอาผู้พ้นโทษ ผู้คุม ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา และตำรวจมาเรียน เพราะตำรวจและทนายประจำศาล ซึ่งมักจะแนะนำให้ผู้ต้องหารับสารภาพ เพื่อปิดคดีได้เร็ว มองว่ากระบวนการยุติธรรมมีปัญหาให้ต้องปรับปรุงหลายส่วน เพราะระบบแบบเดิมส่งผลให้เรือนจำแออัด นอกจากนี้เสนอให้มีนักจิตวิทยาในเรือนจำ เพื่อแก้ไขและบำบัดความกังวลของนักโทษ

logoline