svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อาจารย์ "นิด้า" แจงตีความหมายผิด "รถยนต์ไฟฟ้า - บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยลดฝุ่นควันได้

26 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นกรณีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ได้ออกมาแนะนำว่า หากลดการเผาไหม้แก้วิกฤตฝุ่นควันนั้น "รถยนต์ไฟฟ้า - บุหรี่ไฟฟ้า" สามารถช่วยได้ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง

ความสับสนที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาจากการจัดประชุมวิชาการหัวข้อ การลดอันตรายจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อม (Environmental Pollution Harm Reduction) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสานวิทยาการด้านสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับสุขภาพ หรือเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางในการลดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากภัยจากการเผาไหม้ให้กับประชาชน โดยจัดที่โรงแรมสุโกศล ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยมีบางช่วงบางตอนที่ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้กล่าวบางช่วงบางตอนระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ "ฝุ่น PM2.5 กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเกิดมะเร็งตลอดช่วงชีวิต" ถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาไหม้ว่า 

อาจารย์ "นิด้า" แจงตีความหมายผิด "รถยนต์ไฟฟ้า - บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยลดฝุ่นควันได้


"การแก้ปัญหาฝุ่นควันก็คือ ต้องช่วยกันลดการเผาป่า ป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่า ลดการใช้รถยนต์ แต่กิจกรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นมลพิษที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ หรือที่เรียกว่าการลดอันตราย หรือ Harm Reduction โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยลดเรื่องการเผาไหม้ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งรถเมล์ไฟฟ้า ตลอดจนบุหรี่ไฟฟ้า ที่ไม่ก่อให้เกิดการไหม้ก็จะช่วยลดสารพิษที่จะปล่อยออกมาสู่บรรยากาศได้"
เนชั่น ทีวี จึงได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า โดยได้รับคำตอบว่า สื่อมวลชนที่ได้นำข้อความนี้ไปเผยแพร่จนทำให้เกิดความสับสนนั้น ตนขอยืนยันว่า ไม่ได้พูดว่า การหาแนวทางใหม่ที่ช่วยลดเรื่องการเผาไหม้ อย่าง รถยนต์ไฟฟ้าและบุหรี่ไฟฟ้า จะไม่ก่อให้เกิดการไหม้ได้ 
"สิ่งที่ตนได้นำเสนอแนวคิด คือ การยืนยันที่ไม่ให้มีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ เพราะหากจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น จะต้องไม่มีการกระทำที่เกิดการเผาไหม ส่วนประเด็นบุหรี่ไฟฟ้านั้น ตนไม่เคยพูดสนับสนุนเลย อาจเป็นการตีความผิดความหมายกันไปเองมากกว่า" ศ.ดร.ศิวัช
ศ.ดร.ศิวัช กล่าวอีกว่า เรื่องของข้อดีข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้า ถึงเวลาที่หลายประเทศทั่วโลกควรต้องกลับมาทบทวนกันถึงข้อดีข้อเสียอย่างจริงจังเสียที หรือมีการจัดเสวนาที่จริงจังกว่าเดิม ซึ่งที่ผ่านมาเรามักจะได้รับชุดความคิดที่มักจะบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าดีอย่างไร หรือบุหรี่ไฟฟ้าไม่ดีอย่างไร ซึ่งจะเป็นไปในลักษณะไม่ขาวก็ดำไปเลย ซึ่งกรณีบุหรี่ไฟฟ้านี้ ก็ไม่ต่างจากเรื่องของการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ หรือแม้แต่การสนับสนุนให้มีกัญชาเสรี ซึ่งกรณีของบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศยังไม่มีการกำหนดให้ถูกกฎหมายอย่างที่หลายคนเข้าใจ เช่น สหรัฐอเมริกา ในบางรัฐบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่บางรัฐก็อนุญาตให้ถูกกฎหมายได้ ขณะที่บางประเทศการใช้บุหรี่ไฟฟ้าต้องมีใบอนุญาตรับรอง ตนจึงขอเรียกร้องให้ประเทศไทยมีการจัดงานเสวนาเกี่ยวกับข้อดีหรือข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจังเสียที ไม่ใช่เป็นไปตามจุดประสงค์ที่คนจัดงานแต่ละงานต้องการเท่านั้น

logoline