svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ทอท.เผย 8 เดือนผู้โดยสารพุง 97 ล้านคน

24 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) จัดงานแถลงข่าวครบรอบ 40 ปี การดำเนินการ พร้อมมุ่งสู่องค์กรดิจิทัล และนวัตกรรม โดยมีนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เป็นผู้แถลงข่าว ณ สำนักงานใหญ่ ทอท.

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.นิตินัย ศิริสมรรถการ กล่าวว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ทอท.จะครบรอบ 40 ปีการดำเนินงาน ปัจจุบันมีท่าอากาศยานภายใต้การบริหารของ ทอท.จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 - พฤษภาคม 2562 ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ได้ให้บริการเที่ยวบินจำนวน 606,891 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 328,500 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.23 และเที่ยวบินภายใน ประเทศ 278,391 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.79 ขณะที่มีผู้โดยสารจำนวน 97.23 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.78 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 57.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.72 และผู้โดยสารภายในประเทศ 40.17 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.85 (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2562) 


ในส่วนของผลประกอบการ ทอท.รอบ 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 31 มีนาคม 2562 (งบการเงินเฉพาะบริษัท) ทอท.มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 32,035.09 ล้านบาท และรายได้อื่น 781.59 ล้านบาท รวมรายได้คิดเป็น 32,816.69 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 15,275.45 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 3,565.42 ล้านบาท จึงทำให้มีกำไรสำหรับงวดดังกล่าว จำนวน 13,975.81 ล้านบาท 


นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทอท.ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของท่าอากาศยาน เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานของ ทอท. โดยเฉพาะ ทสภ.ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้มีโครงการพัฒนา ทสภ. (ปีงบประมาณ 2554 2560) (ระยะที่ 2) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 พร้อมด้วยระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2563 สำหรับ ทดม.จะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ การขยายและปรับปรุงหลุมจอดอากาศยาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ส่วนที่ ทภก.อยู่ระหว่างก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศให้สามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 10.5 ล้านคน และก่อสร้างลานจอดอากาศยานรองรับอากาศยาน Code E จำนวน 3 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

นอกจากการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานแล้ว ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสาร ทอท.ได้นำนวัตกรรมมาใช้เพื่อการอำนวยความสะดวก โดยในปีที่ผ่านมา ทอท.ได้พัฒนาเทคโนโลยี และนำมาบูรณาการสู่โลกเสมือนจริงในโครงการ Digital Platform เพื่อพัฒนาระบบสื่อสารออนไลน์ในรูปแบบ Application บนอุปกรณ์พกพา เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเลต เพื่อบริหารจัดการท่าอากาศยานให้มีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพการให้บริการ ซึ่งโครงการ Digital Platform เปรียบเสมือนชานชาลาในสถานีขนส่งให้รถโดยสารเข้าจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกด้านผลิตภัณฑ์และบริการในท่าอากาศยานให้แก่ผู้โดยสาร โดย ทอท.ได้สำรวจความต้องการจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การออกแบบเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ และตรงต่อความต้องการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ซึ่งมีการวิเคราะห์ข้อมูล จากการศึกษา ทสภ.เป็นต้นแบบ เช่น ผลสำรวจความพึงพอใจ ข้อร้องเรียน ความต้องการจากสายการบิน รวมทั้งเทียบเคียงบริการ Application กับท่าอากาศยานชั้นนำ และผลักดันโครงการมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จัดให้มีการสะสมคะแนนเพื่อนำไปแลกสินค้าหรือบริการภายในท่าอากาศยานของ ทอท. 



นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือจากท่าอากาศยานที่ร่วมโครงการข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยานกับ ทอท. (Sister Airport) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกัน โดยในเบื้องต้น Application ดังกล่าวจะมีฟังก์ชันสำหรับให้ผู้โดยสารได้ใช้งาน เช่น (1) Flight Status and Notification ตรวจสอบสถานะ ข้อมูลเที่ยวบินแบบเรียลไทม์ แนะนำเคาน์เตอร์เช็คอินและสัมภาระ พร้อมแจ้งเตือนเที่ยวบินที่กำหนดไว้เพื่อให้ผู้โดยสารได้มีเวลาเตรียมตัวก่อนไปท่าอากาศยาน (2) Way Finding Service บริการแผนที่อัจฉริยะ (Intelligence Map) ในอาคารผู้โดยสารพร้อมนำทางไปยังจุดต่างๆ (3) Traffic Warning Assistant/Car park Service แจ้งเตือนสภาพการจราจรแนะนำเส้นทางเลี่ยงไปยังท่าอากาศยาน ช่วยวางแผนการเดินทางได้อย่างแม่นยำ และบริการจองที่จอดรถพร้อมพื้นที่จอดรถพิเศษ (Premium Zone) (4) Mobile Application Translation เครื่องมือช่วยแปลภาษา (5) Shop & Dine Info แหล่งรวบรวมข้อมูลสินค้า ร้านอาหาร ร้านค้าปลอดอากร พร้อมโปรโมชั่นและสิทธิพิเศษ (6) Booking Service บริการจองต่างๆ เช่น ห้องรับรองภายในท่าอากาศยาน จองและเรียกรถรับจ้างสาธารณะทุกประเภท และ (7) AOT Point โปรแกรมสะสมคะแนนจากทุกการใช้จ่ายภายในท่าอากาศยานเพื่อใช้แลกสินค้าหรือบริการภายในท่าอากาศยาน เป็นต้น



นอกจากนั้น ทอท.ยังสามารถนำข้อมูลการใช้งาน Application มาเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการภายในท่าอากาศยาน เช่น ปริมาณของผู้โดยสารตามจุดต่างๆ แบบเรียลไทม์ และเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการให้บริการจากผู้โดยสารได้โดยตรง ในส่วนของผู้ประกอบการ และสายการบินสามารถนำข้อมูลมาวางแผนปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเสนอโปรโมชั่นต่างๆ ได้ตรงใจผู้โดยสารมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายและสร้างประสบการณ์อันดีแก่ผู้โดยสาร ทั้งนี้ ทอท.คาดว่าจะสามารถเปิดตัว Application และเปิดให้ผู้โดยสารดาวน์โหลดมาใช้บริการดังกล่าวได้ในเดือนหน้า (สิงหาคม 2562)



นายนิตินัย กล่าวว่า ทอท.ยังได้นำนวัตกรรมการบันทึกข้อมูลและประมวลผลโดย Web Based Application (AOTs Level of Service Application: LoS APP) ผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Device) เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่ง ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาออกและขาเข้า ได้แก่ กระบวนการมาถึงชานชาลา (Curbside) การตรวจบัตรโดยสาร (Check-in) การตรวจค้นผู้โดยสารและสัมภาระ (Security Check Point) การตรวจหนังสือเดินทาง (Immigration Control) การรอขึ้นเครื่อง (Boarding Gate) การรับสัมภาระ (Baggage Claim) การตรวจสิ่งของต้องสำแดง (Custom Control) จนถึงบริการขนส่งสาธารณะออกจากท่าอากาศยาน ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการท่าอากาศยาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ใช้บริการท่าอากาศยานจะได้รับบริการในระดับที่เหมาะสม ลดปัญหาความแออัดคับคั่งได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เป็นระบบ และรวดเร็ว เพื่อให้การเดินทางของผู้โดยสารเกิดความคล่องตัวและสะดวกสบาย



ในด้านการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ทอท.ได้จัดทำโครงการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Certify Hub) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างมาตรฐานและกระบวนการส่งออกสินค้าเกษตรแบบเพิ่มมูลค่า และในปีต่อไป ทอท.จะจัดตั้งช่องทางจัดการสินค้าเกษตรแบบพิเศษ (Perishable Premium Lane : PPL) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของโครงการ Certify Hub และเป็นช่องทางพิเศษที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่จะช่วยลดต้นทุนการจัดการสินค้าเน่าเสียง่ายในภาพรวม รวมทั้งช่วยลดเวลาในการจัดส่งสินค้าเน่าเสียง่ายที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิและเวลา เนื่องจากมีความต้องการในการจัดการสินค้าที่ต่างกัน ทั้งในเรื่องการจัดเตรียมสินค้า อุณหภูมิ และความต้องการ การดูแล และติดตามสินค้า โดยในช่องทาง PPL จะมีพื้นที่สำหรับรับสินค้าแยกออกจากอาคารขนถ่ายสินค้า พร้อมเจ้าหน้าที่ตรวจและเตรียมสินค้าเกษตรเพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการประจำช่องทาง PPL และทำการจัดส่งสินค้าให้กับผู้ให้บริการอาคารขนถ่ายสินค้าด้วยการควบคุมอุณหภูมิ 



นายนิตินัย กล่าวในตอนท้ายว่า ทอท.มุ่งมั่นดําเนินงานด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และคํานึงถึงผู้มีส่วนได้เสียภายใต้หลักธรรมาภิบาล จึงมีนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่น (Anti Corruption Policy) ให้ผู้บริหารและพนักงาน ทอท.ถือปฏิบัติ ตลอดจนจะนำระบบการบริหารความเสี่ยงมาเป็นเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงด้านทุจริต ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 รวมทั้ง ทอท.ได้เข้าร่วมโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงาน ภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) และปัจจุบันได้รับผลประเมิน ITA ในระดับที่สูงมาก และยังได้เข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative : CoST) และโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของ ทอท. เช่น โครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2



นอกจากนั้น ทอท.ได้รับรางวัลด้านการกํากับดูแลกิจการที่ดี และความรับผิดชอบต่อสังคมที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ประกอบด้วย ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI) ในกลุ่มอุตสาหกรรมการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม (TRA: Transportation and Transportation Infrastructure) ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 4 ในกลุ่ม Emerging Market ประจําปี 2018 ผลการประเมินการกํากับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนไทย ประจําปี 2561 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2018) ระดับ 5 ดาว จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD) อีกด้วย

logoline