svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ธนาธร" ชี้! ภารกิจ 3 ประการที่สำคัญของไทย ในฐานะอาเซียนปีนี้

24 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า ... [ ขับเคลื่อนอาเซียนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ท่ามกลางภูมิทัศน์การเมืองโลกแบบหลายขั้วอำนาจ ]

การที่ประเทศไทยได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียนอีกครั้งในปีนี้ ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากภูมิภาคของเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลกที่ท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสมดุลความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ สิ่งที่ในอดีตเคยเป็นเพียง "ปัญหาภายในประเทศ" จำนวนมาก ก็กลายมาเป็นประเด็น "ระหว่างประเทศ" ที่ขอบเขตของปัญหาข้ามพรมแดนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาหมอกควัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ สภาวะโลกร้อน หรือการอพยพของแรงงานและผู้ลี้ภัย ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคอาเซียนเองก็เผชิญกับสภาวะถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แม้ว่าประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศเคยร่วมกันยืนยันหลักการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม "ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง" (People-centered) ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ.2558 ก็ตามความท้าทายทั้งหมดนี้ทำให้เราจำเป็นต้องร่วมกันหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนทิศทางความร่วมมือในภูมิภาค ที่นำสามเสาหลักของความร่วมมือ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการเมือง มาพิจารณาร่วมกันอย่างจริงจัง โดยประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ต้องมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือเพื่อพิทักษ์และยกระดับปากท้อง ความเป็นอยู่ รวมถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งภูมิภาคผ่านความร่วมมือในกรอบอาเซียน< ด้านเศรษฐกิจ-การเมือง >

ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา โลกของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่มี "หลายขั้วอำนาจ" (Multipolar World Order) อย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ต่างจากในอดีตที่ประเทศอาเซียนมีประสบการณ์และเคยชินกับการได้รับประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับมหาอำนาจในยุคที่โลกมีเพียงขั้วเดียวท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเมืองโลก และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจที่รุนแรงขึ้นเช่นนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศในฐานะประชาคมยิ่งทวีความสำคัญสูงขึ้นกว่าในอดีต อาเซียนจะมีอำนาจต่อรองกับประเทศมหาอำนาจได้อย่างทัดเทียมขึ้น ก็ต่อเมื่อเราสามารถผสานความร่วมมือกัน กำหนดวาระและทิศทางให้ชัดเจน จากเดิมที่การรวมตัวแบบหลวมๆ ยังพอเป็นไปได้ในยุคขั้วอำนาจเดี่ยวที่แต่ละประเทศต่างก็สามารถเดินตามทิศทางของตัวเองได้ แต่ในปัจจุบันที่โลกกำลังเข้าสู่ยุคหลายขั้วอำนาจ การรวมตัวแบบเดิมไม่พออีกต่อไป สถานการณ์ยิ่งขับเน้นความสำคัญของการมีวาระและยุทธศาสตร์ร่วมกันอย่างชัดเจนตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่เป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญของเกือบทุกประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ดี การเจรจาต่อรองกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และประเทศยุโรป กลับมีทิศทางที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ทั้งยังเต็มไปด้วยอุปสรรคและความไม่แน่นอน ปัญหาทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นเช่นกันในการเจรจา "ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค" (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่เป็นแผนความตกลงเรื่องเขตการค้าเสรี ระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน กับ 6 ชาติคู่เจรจา (ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) อาเซียนกำลังมีบทบาทสำคัญที่ทั่วโลกจับตา ในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันวาระการเจรจาการค้าพหุภาคี (Multilateral Trade Negotiations) แต่จะสำเร็จ เป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกได้ และเป็นต้นแบบของโลกได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถวางหลักการร่วมกันได้ก่อนเท่านั้นนี่ยังไม่นับความท้าทายทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบอย่างการแทนที่แรงงานด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งทำให้คนนับล้านคนในอาเซียนมีความเสี่ยงที่จะตกงาน หากแต่ละประเทศแยกกันจัดการแบบตัวใครตัวมัน แทนที่จะร่วมมือกันเพื่อสร้างกลไกทางสถาบันหรือแบ่งปันข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค"The whole will be greater than the sum of its parts" จะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนพร้อมที่จะร่วมมือกันทั้งเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ และเพื่อรับความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ< ด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน >

นอกจากเศรษฐกิจการเมืองแล้ว ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก็เป็นความท้าทายที่แหลมคมไม่แพ้กัน เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า "เสรีภาพสื่อ" นับเป็นหนึ่งในตัวสะท้อนคุณภาพการใช้ชีวิตของประชาชน แต่ในการจัดอันดับเสรีภาพสื่อปีที่ผ่านมา ทั้ง 10 ประเทศอาเซียนต่างอยู่รั้งท้ายแทบทั้งสิ้น ในแง่ของเสรีภาพโดยรวม จึงไม่มีประเทศใดในอาเซียนที่จัดอยู่ในกลุ่มโลกเสรี การจับกุมคุมขังผู้เห็นต่างและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ การทำลายความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวที่เที่ยงตรงเป็นกลาง การใส่ร้ายป้ายสีนักการเมืองฝ่ายค้าน กลายเป็นวัตรปฏิบัติของหลายรัฐบาลในภูมิภาคของเราเป็นที่น่าเสียดายที่นับตั้งแต่การประชุมที่มาเลเซีย ก็ไม่ได้มีการจัดเวทีคู่ขนานของภาคประชาสังคมกับเวทีอาเซียนซัมมิทอีกเลย รวมทั้งในครั้งนี้ ทั้งที่ๆ ภาคประชาสังคมมีบทบาทและกลไกสำคัญในการผลักดันประเด็นและรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่อาเซียนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ปีนี้ยังเป็นปีที่ AICHR (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) จะมีอายุครบ 10 ปีอีกด้วย ซึ่งคณะกรรมาธิการนี้ควรจะมีบทบาทนำในการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียนควรกลับมายืนยันหลักการสำคัญที่เรา 10 ประเทศเคยมีร่วมกันในการประชุมอาเซียนครั้งที่ 26 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อ พ.ศ.2558 ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้อย่างแน่วแน่ว่าจะสนับสนุนหลักการพัฒนาที่มี "ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" (People-oriented and People-centered) และจะสร้างอาเซียนที่ยึดมั่นในนิติรัฐ (Rule-based) ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมภาคประชาสังคมจึงไม่ควรถูกมองจากภาครัฐว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับตน แต่เราควรมองว่าภาคประชาสังคมเป็นศักยภาพที่อาเซียนควรนำมาใช้เพื่อจัดการกับสถานการณ์เบื้องหน้าที่เราต้องเผชิญกับภาวะของความไม่แน่นอนสูง ลำพังการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario) และการกำหนดยุทธศาสตร์โดยภาครัฐไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วสำหรับการเผชิญหน้ากับโลกอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง เราต้องการข้อมูลมุมมอง และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมที่ข้ามรัฐ ข้ามพรมแดน ข้ามวัฒนธรรมด้วยประเทศไทยในฐานะหนึ่งในชาติผู้ริเริ่มก่อตั้งประชาคมอาเซียน และได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้ ควรผลักดันการปฏิรูปบทบาทของอาเซียน ให้หลักการ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" มิได้หมายถึงแต่เพียงแง่มุมเศรษฐกิจ หากแต่ครอบคลุมถึงสิทธิเสรีภาพ ความผาสุกของประชาชนในประชาคม ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศใด อาเซียนในยุคที่ไทยเป็นประธานสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า เราสามารถก้าวข้ามปราการแห่งการเพิกเฉยในนามของการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด และพิสูจน์ว่าประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง คือประชาคมที่ชาติสมาชิกต่างช่วยเหลือและตรวจสอบกันและกันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันจะนำไปสู่ความมั่นคงและสงบสุขของทั้งภูมิภาค ความมั่นคงและสงบสุขที่ตั้งอยู่บนรากฐานของศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของประชาชน และความเสมอหน้ากันภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม ไม่ใช่ความมั่นคงและสงบสุขที่จ่ายด้วยราคาของการกดขี่และควบคุมนอกจากนี้ ปัญหาหลายอย่างที่เคยเป็นเพียง "เรื่องภายใน" อย่างการอพยพของแรงงานและผู้ลี้ภัย ได้ก้าวข้ามพรมแดนมากลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาคแล้ว ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราพบเห็นความรุนแรงและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชนชาวโรฮิงญาในเมียนมา ทำให้ประชากรโรฮิงญานับล้านอพยพออกนอกประเทศ กลายเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยระดับภูมิภาคในอาเซียน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากชาติอาเซียนไม่ร่วมมือกัน ตรวจสอบสาเหตุของการอพยพลี้ภัย และช่วยเหลือรัฐบาลเมียนมาแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ยุติการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา รับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองให้แก่พวกเขา เพื่อให้ชาวโรฮิงญากลับสู่บ้านเกิดได้อย่างปลอดภัย ก็จะไม่สามารถคลี่คลายวิกฤตผู้ลี้ภัยได้อย่างถาวร ปัญหาแรงงานอพยพที่แต่ละประเทศอาเซียนจำเป็นต้องพึ่งพา แต่ไม่สามารถจัดการได้อย่างเป็นระบบและถูกกฎหมายก็เช่นเดียวกัน หากเรายังยึดมั่นกับการมองปัญหาต่างๆ ให้เป็นเพียง "เรื่องภายในประเทศ" ชาติอาเซียนจะไม่สามารถรับมือกับปัญหาใหญ่ที่ท้าทายเราอยู่ตอนนี้ได้เลย เพราะปัญหาเหล่านี้ล้วนกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป< ด้านสิ่งแวดล้อม >
เช่นเดียวกัน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแพร่กระจายของหมอกควัน ก็กลายเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน การรับมือแต่ภายในประเทศไม่อาจป้องกันปัญหาหรือแก้ปัญหาที่ต้นตอได้อีกแล้ว นโยบายที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรการควบคุมไฟป่า การควบคุมการปล่อยมลภาวะของภาคอุตสาหกรรมและฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ จำเป็นต้องอาศัยการพูดคุยและสร้างกฎเกณฑ์ระดับภูมิภาค ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะที่ขนส่งมาจากนอกอาเซียนก็กลายเป็นข่าวสำคัญของทุกประเทศไม่เว้นแต่ละวัน แต่การปล่อยให้เป็นเรื่องของแต่ละประเทศในการจัดการกลับกลายเป็นแนวทางที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนประเทศอาเซียนจำเป็นต้องพูดคุยกันอย่างจริงจัง วางหลักเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อการันตีสิทธิในการมีอากาศสะอาด มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกันของประชาชนอาเซียน โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยแนวทางพหุภาคีเท่านั้น ประชาคมอาเซียนจึงจะสามารถรับมือกับปัญหาระดับโลกอย่างสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือขยะล้นโลกได้

"ธนาธร" ชี้! ภารกิจ 3 ประการที่สำคัญของไทย ในฐานะอาเซียนปีนี้

< สรุป >

สำหรับผม ภารกิจที่สำคัญของไทยในฐานะอาเซียนปีนี้ มี 3 ประการ 

ประการแรก ก็คือการทำให้ความร่วมมือมีความเข้มแข็งเพื่อรักษาสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ เพื่อให้อาเซียนพิทักษ์ผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทั้งประชาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดประการที่สอง คือการพลิกฟื้นอาเซียนให้เป็นประชาคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังทั้งทางเศรษฐกิจและสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ช่วยเหลือตรวจสอบกันและกันโดยก้าวข้ามหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ไปสู่การร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละประเทศ เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งผาสุกระดับภูมิภาค เพราะความผาสุกย่อมไม่ได้อาศัยเพียงความกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจ แต่หมายถึงความมั่นคงจากการได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในฐานะพลเมืองด้วย และภารกิจประการสำคัญที่สุด เหนือสิ่งอื่นใด คือการสถาปนาความเชื่อมั่นที่ว่า ประชาธิปไตยคือหนทางไปสู่ความกินดีอยู่ดีของประชาชน เพราะนี่คือวิถีทางเดียวที่จะปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์ และนำมาซึ่งความมั่นคงอย่างยั่งยืนของชาวอาเซียนทั้งภูมิภาค#ASEAN2019

"ธนาธร" ชี้! ภารกิจ 3 ประการที่สำคัญของไทย ในฐานะอาเซียนปีนี้

logoline