svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คมนาคมคาดทางคู่บ้านไผ่-นครพนมเปิดบริการปี 67

21 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "สิ้นสุดการรอคอย ทางรถไฟบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม ของชาวอีสาน" โดยมี นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ กงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครพนม จำนวนประมาณ 350 คน เข้าร่วมสัมมนาฯ และมี นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่ากลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายมงคล ตันสุวรรณ กรรมการรองเลขาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย นายทักษ์ ศรีรัตโนภาส ผู้อำนวยการด้านโครงการร่วมทุนและการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มมิตรผล และนายชัยพล เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการบริหาร บริษัท เอ็นเทคโพลีเมอร์ จำกัด และรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง หัวข้อ "บ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม ทางรถไฟ 5 ประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจระดับสากล" ณ โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว นครพนม จังหวัดนครพนม



นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวตอนหนึ่งว่า การสัมมนาฯ ในครั้งนี้เป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครพนมได้รับรู้ถึงแผนการพัฒนาเส้นรถไฟทางคู่สายใหม่ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม ที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความปลอดภัยในการเดินทางและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเท่าเทียมกันในสังคมในการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่ง และเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการดำเนินโครงการให้มากขึ้น ในส่วนของจังหวัดนครพนมมีจุดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวทางพุทธศาสนา การท่องเที่ยวแนวเส้นทางเลียบแม่น้ำโขง เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ มีท่าอากาศยานซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงขยายอาคารผู้โดยสารขาเข้าให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากอากาศยานที่ลงจอดพร้อมกันได้ 2 ลำ ขยายห้องโถงสำหรับผู้โดยสารที่รอจัดการตั๋วโดยสาร และเพิ่มพื้นที่จอดรถผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับผู้โดยสารได้ 1.7 - 2 ล้านคนต่อปี มีถนนเชื่อมโยง ในอนาคตอันใกล้จะมีรถไฟทางคู่ที่ประชาชนเฝ้ารอคอยมาอย่างยาวนานนับ 50 ปี มีการเขื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือน้ำลึกที่ท่าเรือแหลมฉบังได้ ในส่วนจังหวัดนครพนมต้องเร่งวางแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อเชื่อมโยงกับแผนงานที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้วางไว้



โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม เป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี โครงการฯ นี้ มีระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร ผ่าน 70 ตำบล 19 อำเภอ ของ 6 จังหวัด มีสถานีรถไฟ 18 สถานี แบ่งเป็นสถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี (มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และนครพนม) สถานีขนาดกลาง 5 สถานี และสถานีขนาดเล็ก 9 สถานี ป้ายหยุดรถ 12 แห่ง ย่านเก็บกองและบรรทุกตู้สินค้า 6 แห่ง ด้านความปลอดภัย ได้ออกแบบให้มีสะพานรถไฟข้ามถนน/ถนนเลียบคลอง 158 แห่ง สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 81 แห่ง ทางลอดรถไฟ 245 แห่ง ทางบริการขนานทางรถไฟ 165 แห่ง โครงการฯ นี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ในปี 2563 จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเริ่มการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2567 โครงการฯ นี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเร่งรัดพัฒนารถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบน สามารถเชื่อมพรมแดนได้ถึง 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะช่วยให้ประชาชนเดินทางสะดวกสบายขึ้น ผู้ประกอบการขนส่งสินค้ามีทางเลือกในการขนส่งสินค้า เพิ่มรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสทางการค้าและการท่องเที่ยวระดับโลก

logoline