svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"อ่าวเปอร์เซีย" จุดยุทธศาสร์ ที่สหรัฐฯ ถอยไม่ได้อีกแล้ว

21 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์ในอ่าวโอมาน ปากอ่าวเปอร์เซีย กำลังระอุกันทีเดียว หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุการวางระเบิดเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำ ซึ่งทางด้านสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวหาว่าอิหร่านเป็นผู้ลงมือกระทำการดังกล่าว และพยายามที่ขุดหลักฐานต่าง ๆ ออกมาแสดงต่อชาวโลก




และทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอย่าง ไมท์ ปอมเปโอ ก็ฟันธงไปทันทีว่าผู้ที่กระทำเรื่องดังกล่าวนั้นคืออิหร่าน อันที่จริงเรื่องดังกล่าวนั้นมีเบื้องลึกแล้วนี่คือเกมแย่งชิงความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในตะวันออกกลางของมหาอำนาจ ที่ถูกแบ่งขั้วแบ่งข้างอย่างชัดเจน ขั้วแรกนั้น ประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรต และอิสราเอล เป็นแกนหลัก ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ล้วนเป็นฐานอำนาจเดิมในภูมิภาคแห่งนี้ ส่วนขั้วที่สองนั้น ประกอบไปด้วยแกนหลักคือรัสเซีย จีน อิหร่าน ตุรกี กาตาร์ ซึ่ง จะเห็นได้ว่าในเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา รัสเซีย และ จีนรุกตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง

ถ้าพูดถึงเกมนี้อิหร่านคือหมากสำคัญที่เป็นก้างขวางคอสหรัฐฯ ในการยึดอ่าวเปอร์เซียแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เวลานี้สหรัฐฯ เองมองว่าหากยังคงประวิงเวลาปล่อยให้อิหร่านมีอิสรภาพมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้สหรัฐฯจะเป็นผู้พ่ายแพ้ในตะวันออกกลางอย่างสิ้นเชิง

ถ้าดูตามภูมิศาสตร์แล้ว ผู้ที่ยึดกุมปากอ่าว เกาะแก่งต่าง ๆ ในยามทำสงครามมักจะถือครองความได้เปรียบเอาไว้ได้เสมอ และตะวันออกกลาง ก็ไม่ต่างจากภูมิศาสตร์ในส่วนอื่น ๆ ของโลก ภูมิภาคแห่งนี้มีพื้นที่อ่าวสำคัญ ๆ อยู่ด้วยกัน ทะเลดำ , ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน , ทะเลแดง และ อ่าวเปอร์เซีย ซึ่งทั้งหมดเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคแห่งนี้ ดังนั้นจะชี้ให้เห็นเป็นจุด ๆ ว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงกำลังเข้าตาจน ในภูมิภาคแห่งนี้

ทะเลดำ เป็นพื้นที่ จุดยุทธศาสตร์ ที่จะเชื่อมภูมิภาคแห่งนี้ไปสู่ยุโรป และรัสเซีย ซึ่งที่ผ่านมานั้นทางด้านตุรกี เป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐฯ ย่อมมีความได้เปรียบพื้นที่ตรงนี้อย่างยิ่ง มีการสร้างฐานทัพต่าง ๆ ในตุรกีมากมาย แต่ทว่า ช่วงหลังมานั้น สถานการณ์ไม่เหมือนเดิมหลังจากที่ตุรกีรู้ทันว่า สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนเฟดอุสเลาะห์ กูเลน นักการศาสนา ที่ต้องการล้มล้างการปกครองของ ประธานาธิบดีเรเซป เตอร์ยิป เฮอร์โดกัน ทำให้ตุรกีเริ่มเอาใจออกห่างจากสหรัฐฯ และมาเข้าด้วยกับทางด้านรัสเซีย ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่แห่งนี้รัสเซียพลิกเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่ายิ่ง

ถัดลงมาเป็นทะเลเมดิเตอร์เนียน เป็นทะเลที่จะข้ามไปยุโรป แม้ว่าพื้นที่แห่งนี้ทางด้านสหรัฐฯ และกลุ่มนาโตจะมีกำลังที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้จำนวนมากก็ตาม แต่ในเวลานี้ พื้นที่แห่งนี้ก็เต็มไปด้วยเรือรบ และ เรือดำน้ำของรัสเซียเช่นกัน แต่ที่สำคัญ ตุรกี ที่มีชายแดนด้านหนึ่งติดกับพื้นที่แห่งนี้ รวมถึงซีเรีย ที่รัสเซียเข้าไปมีบทบาท ถือว่าแทบยึดครองพื้นที่ได้เกือบทั้งหมดนั้น ทำให้บทบาทของสหรัฐฯ ในจุดยุทธศาสตร์แห่งนี้ก็เสียเปรียบให้กับรัสเซียเช่นกัน โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งน้ำมันจากอิรักที่จะออกสู่ทะเลมิดิเตอร์เรเนียน ทำไม่เต็มที่ เราจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ นำกำลังทหารเข้าไปในซีเีรีย ก็จะอยู่ทางตอนเหนือของซีเรีย มีการตั้งฐานทัพเอาไว้บริเวณนี้จำนวนมาก และไปสนับสนุนชาวเคิร์ด กลุ่มต่าง ๆ ให้จับอาวุธขึ้นสู้กับตุรกี และ รัฐบาลซีเรีย เพราะแนวท่อส่งน้ำมันจากอิรักผ่านทางตอนเหนือของซีเรีย ลงอ่าวแห่งนี้นั่นเอง ดังนั้นสหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องดูแลเส้นทางนี้ ไม่อย่างนั้นจะถูกรัสเซียปิดกั้นไว้ทั้งหมด ดังนั้นแน่นอนว่าสงครามในซีเรีย ย่อมจะต้องยืดเยื้อต่อไป เพราะต่างฝ่ายต่างก็ต้องการพื้นที่แห่งนี้ในการที่จะเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันออกสู่ทะเล นั่นเอง

ลงใต้ลงมาก็คือส่วนของทะเลแดง และอ่าวเอเดน ในพื้นที่เหล่านี้เราไม่ค่อยจะได้ยินข่าว การสู้รบมากนัก ยกเว้นในประเทศเยเมน แต่รู้หรือไม่ว่าจุดยุทธศาสตร์ก็คือปากอ่าวทะเลแดง ที่จะต้องผ่านเข้าไปยังอียิปต์ และ ซาอุดีอาระเบียนั้น มีประเทศเล็ก ๆ ที่ชื่อว่าจิบูตี ซึ่งตรงนั้นจะมีช่องแคบที่สำคัญอยู่ พื้นที่ตรงนี้รัสเซียจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวมากนัก แต่รัสเซียให้พันธมิตรอย่างจีน เข้ายึดครองพื้นที่จุดนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจีนได้เข้าไปสร้างฐานทัพเรือแห่งแรกในจิบูตี และเป็นฐานทัพเรือแห่งแรกของจีนในต่างประเทศ ซึ่งจีนอ้างว่า จะใช้ในการให้กองทัพเรือนั้นคุ้มกันเรือสินค้าของจีนที่จะต้องขนส่งน้ำมันผ่านบริเวณดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าหากเกิดสงครามขึ้นมา สหรัฐฯ ถูกปิดปากอ่าวย่อมเสียเปรียบในบริเวณดังกล่าวอย่างแน่นอน

ดังนั้นเหลือพื้นที่สุดท้ายที่สหรัฐฯ พอจะรักษาสถานะตัวเองในภูมิภาคแห่งนี้ได้นั่นก็คือ อ่าวเปอร์เซีย ถ้าดูจากภูมิศาสตร์ของอ่าวแห่งนี้ ฝั่งหนึ่งนั้นเป็นทางด้านซาอุดีอาระเบีย อีกฝั่งเป็นอิหร่าน ส่วนที่อิหร่านเข้ามาลาดตระเวณอยู่ตลาดเวลาคือช่องแคปฮอร์มุซ เป็นส่วนที่จะเข้าไปยังแหลมเล็ก ๆ อยู่ ซึ่งนั่นก็คือกาตาร์ ซึ่งที่ผ่านมากาตาร์เป็นที่ตั้งฐานทัพขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ และเป็นเส้นทางเดียวที่สหรัฐฯจะขนส่งน้ำมันจากอิรักผ่านออกทางนี้ แต่เนื่องจากช่วงหลังมานี้กาตาร์ก็เอาใจออกห่างจากสหรัฐฯ และรัฐอาหรับอื่น ๆ แล้วไปเข้าด้วยกับทางด้านอิหร่าน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอ่าวดังกล่าว ทำให้สหรัฐฯ และซาอุฯ นั้นไม่พอใจอย่างยิ่ง และยิ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายที่สหรัฐฯพอจะช่วงชิงความได้เปรียบในภูมิภาคแห่งนี้อยู่ได้บ้าง แต่เมื่อกาตาร์เริ่มจะแข็งข้อมากขึ้น ก็ถึงเวลาที่สหรัฐฯ กับซาอุฯ จำเป็นจะต้องจัดการขั้นเด็ดขาด เราจะเห็นได้ว่าช่วงหนึ่งนั้นหลายประเทศที่อยู่ฝั่งเดียวกับสหรัฐฯ ก็ใช้การบีบกาตาร์มาแล้วเช่นกัน แต่เหมือนว่าเวลานี้กาตาร์ ก็ไม่ได้สนใจในสิ่งที่สหรัฐฯ และ รัฐอาหรับต่าง ๆ ได้กระทำต่อกาตาร์ เนื่องจาก กาตาร์รู้ดีว่าเวลานี้ รัสเซีย อิหร่าน หรือแม้แต่ตุรกีให้การหนุนหลังกาตาร์อย่างเต็มที่ ดังนั้นก็ไม่ได้ทำให้กาตาร์เสียเปรียบประเทศใหญ่ ๆ รอบอ่าวเปอร์เซียแต่อย่างใด

เมื่อสหรัฐฯ จัดการกับกาตาร์เด็ดขาดไม่ได้ ถึงแม้จัดการได้ ก็ยังมีเสี้ยนหนามอย่างอิหร่าน ที่ดูแลช่องแคบสำคัญ ดังนั้น วันนี้จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ เดินเกมหนัก เพื่อจัดการอิหร่าน เพราะต้องการรักษาพื้นที่แห่งนี้ และน่าจะเป็นแห่งสุดท้ายที่สหรัฐฯ จะถอยไม่ได้อีกต่อไป เพราะถ้ายอม นั่นหมายถึงต้องถอนสมอ ออกจากตะวันออกกลางแบบไม่รู้จะได้กลับมาอีกครั้งเมื่อไหร่

งานนี้สหรัฐฯ แพ้ไม่ได้ เพราะหมายความว่าถ้าเสียกาตาร์ให้รัสเซีย ก็เท่ากับว่าจบสิ้นบทบาทในตะวันออกกลางอย่างสิ้นเชิง

logoline