svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รักโลก by วชิรวิทย์ | เหรียญ 2 ด้าน ประมง IUU

17 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

4 ปีแล้ว ที่รัฐบาล เอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย จนสามารถปลดล็อกใบเหลือง ไอยูยู ได้สำเร็จ เวลานี้เรือประมงพาณิชย์ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะการทำตามกฎหมายทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น แต่เรือประมงพื้นบ้าน กลับได้รับผลดีเพราะจับปลาได้มากขึ้น เห็นได้ชัดว่า ทะเลไทยเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ ไปติดตามกับทีมข่าวชั่วโมงสืบสวน


สายวันหนึ่งที่เทียบเรือของเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร เรือประมงลำใหญ่ เทียบท่าขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย หลังออกไปหาปลากลางทะเลอ่าวไทยเป็นเวลาถึง 22 วัน
แรงงาน 15 ชีวิตบนเรือ ส่วนใหญ่เป็นต่างด้าวชาวเมียนมา รีบเร่งลำเลียงปลา ขึ้นรถบรรทุกคันใหญ่ให้ เพราะหลังจากนี้พวกเขาจะได้พักเป็นเวลา 2 วันก่อนออกจากฝั่ง ใช้ชีวิตอยู่กลางทะเล กินเวลาเกือบเดือนอีกครั้ง
ระหว่างนั้นเราเห็นชายเสื้อดำคนนี้ นั่งนับจำนวนปลาที่จับได้ นี่เป็นหน้าที่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอุตสาหกรรมประมง
หลังพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558 และ 2560 บังคับใช้ เรือประมงพาณิชย์ทุกลำต้องทำตามกฎหมาย แจ้งการเข้าออก ระบุจำนวนแรงงานที่ออกไป และกลับเข้ามาครบหรือไม่ จับปลามากี่ชนิดจำนวนเท่าไหร่ มีอะไรบ้าง
การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นที่รัฐบาล คสช. ผลักดัน มีขึ้นเพื่อปลดล็อกใบเหลือง IUU หรือ การทำประมงที่ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม ซึ่งประเทศที่ได้ใบเหลือจะไม่สามารถส่งออกปลาไปขายในสหภาพยุโรปได้
แต่ตลอด 4 ปีของการแก้ปัญหานี้ ทำให้ต้นทุนของประมงพาณิชย์สูงขึ้น
ในบรรดาต้นทุนทั้งหมดที่ต้องทำตามกฎหมาย ต้นทุนในส่วนของการออกใบอนุญาต ไม่ต่ำกว่า 20,000 ต่อคน รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นี่เป็นส่วนที่ใช้เงินมากที่สุด ไต้ก๋งเรือลำนี้บอกว่า วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะมีแรงงานบางส่วนที่ใบอนุญาตหมดอายุ และต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง โดยจะกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยในลักษณะ MOU ซึ่งในห้วงเวลาที่ทิ้งช่วงไปนี้ จะทำให้ขาดแคลนแรงงานประมง
เจ้าของเรือประมงหลายรายในจังหวัดสมุทรสาคร รวมตัวกันให้ข้อมูลกับทีมข่าวของเรา ว่าต้นทุนจากการทำตามกฎหมาย ทำให้ ผลประกอบการแย่ลง บางรายสู้ไม่ไหวก็ยอมทิ้งเรือ เปลี่ยนธุรกิจ
พวกเขาไม่ปฏิเสธที่จะทำประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปัญหาราคาอาหารทะเลที่ตกต่ำ จากการไม่ควบคุมการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งติดใบเหลือ IUU ทำให้เกิดคำถามว่าจะให้ชาวประมงไทย ทำถูกกฎหมายไปทำไม เพราะนอกจากต้นทุนจะสูงขึ้นแล้ว ยังต้องตัดราคาแข่งกับอาหารทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทำประมงอย่าง ผิดกฎหมายเมื่อต้นปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการปลดปล็อกใบเหลือ IUU เป็นใบเขียว ได้สำเร็จ สรุปคดีประมงตั้ง 1 เมษายน 2561 31 พฤษภาคม 2562 เรือประมงพื้นบ้านที่มีอยู่ 22,058 ลำ มีเรือที่ถูกจับกุม 223 ลำ ส่วนเรือประมงพาณิชย์ ที่มีอยู่ 10,645 ลำ มีเรือที่ถูกจับกุม 226 ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นของเรือประมงทั้งหมด
สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายประมงที่มีโทษปรับรุนแรงนั้น ได้ผล
ที่อ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชายหาดที่สงบเงียบแห่งนี้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวประมงพื้นบ้านที่นี่เราได้พบกับ ขจรศักดิ์ ส้มหวาน ชาวประมงรุ่นใหม่วัย 34 ปี วันนี้เขาได้ปลาหมึกกลับมา
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมประมงพื้นบ้านลำนี้จึงได้ปลาหมึกกลับมาอย่างเดียว นั่นเป็นเพราะว่าวิถีของประมงพื้นบ้านจริงๆ จะทำประมงแบบแยกประเภท การออกเรือไปแต่ละครั้ง อยู่ที่ว่าจะจับปลาชนิดใดกลับมา
สำหรับปลาหมึงลังนี้ ประเมินว่าน่าจะขายได้ถึง 2,000 จากราคาปลาหมึกปัจจุบันที่ 115 บาทต่อกิโลกรัม
การบังคับใช้กฎหมายประมงฉบับล่าสุดทำให้มีการแบ่งพื้นที่สำหรับชาวประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้านชัดเจนมากชขึ้น ประมงพาณิชย์จะทำมงนอกชายฝั่งไป 3 ไมล์ทะเล ส่วนประมงพื้นบ้านก็จะทำในชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล
ชาวประมงพื้นบ้านอีกคน สมศักดิ์ อ่วมอร่าม วัย 55 ปี บอกว่าแม้การเข้มกฎหมายประมงจะทำให้ประมงพื้นบ้านได้รับผลประโยชน์ จากทรัพยากรที่สมบูรณ์ขึ้น แต่ปัจจัยที่คุกคามท้องทะเลนอกจากการทำประมงแล้ว คือขยะทะเลและสภาพภูมิกาศที่เปลี่ยนแปลงสมาคมประมงพื้นบ้าน อ่าวคั่นกระได จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมตัวกับแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายประมงที่แก้ปัญหาไอยูยูว่า ทำให้ประมงพื้นบ้านได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น เพราะก่อนหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เรือประมงพาณิชย์เก็บสัตว์น้ำในทะเลไปจนหมดแทบ ไม่มีเหลือให้กับประมงพื้นบ้านได้จับขึ้นมาเพื่อขายเลี้ยงชีพ หลังจากที่รัฐบาลควบคุมทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 20%นอกจากจีรศักดิ์ มีฤทธิ์ จะเป็นประชาสัมพันธ์ สมาคมประมงพื้นบ้าน อ่าวคั่นกระได แล้ว เขายังเคยเป็นอดีตแรงงานประมงในเรือประมงพาณิชย์ เมื่อสมัยยังเป็นวัยรุ่น
จีรศักดิ์ เล่าย้อนในเราฟังว่า มีวิถีชีวิตที่ยากลำบาก ต้องทำงานอย่างหนักไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ.ช่วงระยะเวลาที่ออกเรือไปกว่า 20 วัน ทำงานเกือบตลอด 24 ชั่วโมง หลังจากทำได้ครั้งเดียวก็เลิกทำ
เช่นเดียวกับ ประสาร มีฤทธิ์ สมาชิกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได ที่เคยใช้ชีวิตเป็นแรงงานในเรือประมงพาณิชย์มาหลายปี ก่อนมีกฎหมายบังคับใช้ เจ้าของเรือก็ไม่ได้จ่ายค่าแรง ตามส่วนแบ่งของปลาที่หาได้เยอะตามที่ตกลงไว้ ทำให้ได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด แรงงานบางรายที่หัวดื้อ ก็ถูกโยนทิ้งลงทะเลจนเสียชีวิตโดยที่ไม่มีใครรับรู้
เรื่องเล่าถึงเรื่องราวให้อดีตของการเป็นแรงงานประมง ทำให้เขาเห็นด้วยกับการมีกฎหมายควบคุม แจ้งจำนวนแรงงานก่อนเข้าและออก อย่างน้อยทำให้แน่นใจได้ว่าจะไม่มีใครต้องถูกนำชีวิตไปทิ้งไว้กลางทะเล อย่างที่เคยเห็นๆ กันมา

แม้ 'ประมงพาณิชย์' และ 'ประมงพื้นบ้าน' จะมีความเห็นและได้รับผลกระทบที่ต่างกันในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย IUU โดย 'ประมงพาณิชย์' ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว ทำให้มีต้นทุนในการทำประมงที่สูงขึ้น ในขณะที่ 'ประมงพื้นบ้าน' ได้รับประโยชน์เพราะสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้นเนื่องจากกฎหมายควบคุมประมงพาณิชย์และจำกัดพื้นที่การหาปลา รวมถึงเครื่องมือประมงต้องมีขนาดตาข่ายไม่เล็กจนเกินไป
แต่สำหรับปัญหาที่ทั้งสองสมาคมประมงต้องเจอเหมือนกันในช่วงเวลานี้ คือราคาอาหารทะเลที่ตกต่ำ อันเนื่องมาจากการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศบ้านที่มีราคาถูกกว่า มากดราคาให้อาหารทะเลที่ผลิตโดยประมงไทยตกต่ำลงทุกๆเช้า สะพานปลาจังหวัดระนอง จะคราคร่ำ ไปด้วย ชาวประมงที่นำปลามากอง มีพ่อค้าแม่ค้า จากที่ต่างๆ มาประมูลราคาปลาไปขาย หรือที่เรียกว่า เปียปลา
แม่ค้าคนนี้บอกว่า ช่วงนี้อาหารทะเลมีน้อย ที่เห็นส่วนใหญ่ เป็นปลาที่มาจากฝั่งประเทศเมียนมาร์
แม้อยู่ในช่วงปิดอ่าว 3 เดือนแต่ก็มีการลักลอบบ้างทำประมงในบางพื้นที่ ซึ่งยอมรับว่าก่อนหน้านี้อาหารทะเลราคาตก ยกตัวอย่างเช่นปลาทู
วันนี้ปลาทูเกรดเอ เปียปลาไปได้ในราคา 90 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาก่อนหน้านี้สูง ถึง 120 บาทต่อกิโลกรัมผู้หญิงคนนี้ เป็นแม่ค้าอีกคน เข้ามาเปียปลา รับซื้อปลาจากสะพานปลา จังหวัดระนองไปขายต่อ บอกว่า ช่วงนี้ มีปลา ให้รับไปขายจำนวนน้อยลง เนื่องจาก เรือประมงพาณิชย์ติดปัญหากฎหมาย iuu และ อยู่ในช่วงปิดอ่าวของประเทศเมียนมาร์ ทำให้ขาดรายได้ไปบ้าง แม้ตอนนี้ราคาอาหารทะเลจะปรับขึ้น แต่ก็ไม่มีสินค้าให้นำออกไปขายที่สะพานปลา จังหวัดระนอง เรายังได้พบกับ สมทรัพย์ จิตตะธัม นายกสมาคมประมงจังหวัดระนอง เขาไม่ปฏิเสธว่า มาตรการปิดอ่าว 3 เดือน ทำให้ราคาอาหารทะเลปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ก็จะสูงขึ้นอยู่ได้เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาที่อาหารทะเลมีราคาที่สูง ชาวประมงไทยก็ไม่มีปลาขายที่จะได้ราคาดี เพราะอยู่ในช่วงมรสุม และติดปัญหา ต้นทุนที่ไม่คุ้มค่า จากกฎหมาย IUU ข้อเสนอจากสมาคมประมงแห่งประเทศไทยก็คือ รัฐต้องควบคุมการนำเข้าอาหารทะเล จากปัจจุบันที่ปล่อยให้นำเข้าแบบเสรี ซึ่งมีแนวโน้มการนำเข้าสูงขึ้น
ข้อมูลจาก กรมการค้าต่างประเทศสถิติการนำเข้าสัตว์น้ำสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ปี 2559 ปริมาณ 1.47 ล้านตัน ปี 2560 ปริมาณ 1.44 ล้านตัน และล่าสุด ปี 2561 มีปริมาณ 1.67 ล้านตัน
แต่ล่าสุด กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า รัฐไม่สามารถจำกัดปริมาณนำเข้าสินค้าประมงได้เนื่องจากไทยไม่ได้ผูกพันสินค้าประมงกับ WTO ซึ่งหากประเทศไทยห้ามนำเข้าสินค้าประมงเฉพาะจากต่างประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นการเลือกปฏิบัติ
การจัดระเบียบประมง ทั้งหมด ทั้งมวล นั้นก็เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม สัตว์น้ำ สัตว์ทะเล ให้ยังคงอยู่ต่อไป รวมถึงคืนความเป็นธรรมให้กับแรงงานประมง ที่นับเป็นคนใช้แรงานที่หนักห่วงและน่าสงสารที่สุดในบรรดาแรงงานทั้งหมด
ยังมีปัญหายิบย่อยอีกมากที่เป็นผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย ผู้ประกอบบอกว่าเรือประมงพาณิชย์ตามข้อมูลของกรมประมงที่มีอยู่ 10,645 ลำ จริงๆ แล้วมีที่นำออกไปหาปลาเพียง 8,000 ลำ ที่เหลือจอดนิ่ง และถอดใจสู้ต้นทุนทางกฎหมายไม่ไหว
แต่ในอีกมุมหนึ่งอุตสาหกรรมประมงก็ค่อนข้างอู้ฟู้มากในอดีต การจัดระเบียบประมงครั้งนี้ จึงให้ใครอีกหลายคนที่เคยได้มาก เสียผลประโยชน์
มากไปกว่าราคาอาหารทะเลที่เป็นไปตามกลไกตลาดมีมากราคาตก มีน้อยราคาแพง
ยังมีชีวิตอีกหลายล้านชีวิตใต้ท้องทะเล ที่อยู่ร่วมโลกใบเดียวกับเราที่จำเป็นต้องรักษาสมดุลธรรมชาติเอาไว้
ชีวิตคนยังมีทางเลือก แต่ปลาในทะเลไม่มีทางเลือก นอกจากถูกจับขึ้นมาเป็นอาหารของมนุษย์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ประเทศไทยจะแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายได้สำเร็จ แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่เรานำเข้าอาหารทะเลเข้ามา ยังมีปัญหาไอยูยู คือการทำประมงแบบไร้การควบคุมติดตาม และหากประเทศไทยไม่สามารถจะควบคุมการนำเข้าอาหารทะเลจากเพื่อนบ้านได้ ดังนั้นในฐานะประธานอาเซียน จึงต้องผลักดันการจัดประมงในระดับภูมิภาค.

logoline