svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ฤา "อีช่อ-สัด-เหี้ย-ไอ้ห่า" คำด่ากักขฬะจะเต็มเมือง!

14 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ใครจะคิดอย่างไรผมไม่รู้ แต่ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า "ฤทธิ์เดชของมือถือ โลกอะไรไม่รู้ในโซเชียลมีเดีย" ได้ทำลายพฤติกรรมแบบเดิมๆ และดีๆ ของสังคมไทยให้สูญสิ้นไปหลายอย่างไปแล้ว

คติพจน์ที่เป็นคำสอนของบรรพบุรุษ "ให้เชื่อฟังผู้ใหญ่" "เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด" ไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะคนรุ่นใหม่ที่เติบใหญ่ขึ้นมาในสังคมปัจจุบันกว่า 10 ล้านคน และช่วงชีวิตผูกติดอยู่กับมือถือและสังคมโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ทวิตเตอร์ ไม่สนคำสอนของผู้ใหญ่เสียแล้ว


ใครไปสอน ไปว่า คนรุ่น gen y-gen Z ที่เกิดตั้งแต่ 1997-2010 ที่กำลังเติบโต เรียนรู้ พัฒนาตัวเอง คนยุค Millenials หรือกลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1980-1996 ที่อยู่ในวัยทำงานในปัจจุบัน อาจถล่มเอาได้ง่ายว่า ท่านตกยุค ล้าหลัง ไม่ทันโลก


คำสอนในเรื่องสมบัติผู้ดี"สำเนียงส่อภาษา กิริยา ส่อสกุล"เพื่อให้คนในสังคมให้เกียรติแก่กัน ให้สังคมมีความเคารพต่อกันถูกทำลายไปสิ้น "ฟังคิด ถามเขียน"ก่อนจะทำอะไรไม่มีความหมาย...เห็นปุ๊บส่งปั๊บ เมนท์ทันทีไม่สนใจคนอื่นจะว่าอย่างไร เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพของฉัน


ในยุคที่ข้อมูลหลั่งไหลแบบถาโถมเข้ามาในชีวิตของผู้คนเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ที่สะดวกรวดเร็ว ข้อมูลลวง หรือเฟกนิวส์ ที่หาความน่าเชื่อถือไม่ได้เลยสักนิดแต่แพร่สะพัดในสังคมอย่างรวดเร็ว ได้ถูกใช้ในการทำลายล้างใครต่อใครให้พังพาบลงได้แบบฉับพลัน


คำพูดจาด่าทอ เสียดสี ให้ร้ายต่อกัน ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง อารมณ์แห่งความเลวร้ายกักขฬะท่วมเกลื่อนไปทั้งเมืองแทบทุกวัน...คำพูดจา เสียดสี เหี้ย ห่า สารพัดสัตว์ ยันอวัยวะเพศ ตลอดจนการสร้างวาทกรรมอีช่อ ว่อนกระจายทุกวันผ่านทางเฟซบุ๊กที่ผู้ใช้งาน 53 ล้านบัญชี ผ่านทางอินสตราแกรม 13-14 ล้านบัญชี ผ่านทางไลน์ 40 ล้านคน ทวิตเตอร์อีก 9-10 ล้านคน ไม่ว่าคุณจะดูหรือไม่ดูมันจะถาโถมมาหาคุณ


วันก่อนหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ ได้เผยแพร่การเชื่อถือข้อมูลต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย พบว่า คนไทย คนซาอุดีอาระเบีย คนอินเดีย และคนโปแลนด์ เชื่อถือข้อมูลที่ได้จากโซเชียลมีเดียมาก แตกต่างจากคนในประเทศพัฒนาแล้ว


ผลสำรวจพบว่า ชาวอินเดียเชื่อถือข้อมูลในโซเชียลมีเดียถึง 52% ชาวซาอุดีอาระเบีย และชาวไทยเชื่อถือข้อมูลในโลกโซเชียลมีเดีย 52-53% ส่วนชาวโปแลนด์เชื่อ 51% ส่วนชาวอเมริกัน 23% เท่านั้นที่เชื่อถือข้อมูลที่ได้รับจากสื่อโซเชียล ส่วนชาวเยอรมนี 20% ชาวแคนาดา 28% ขณะที่ชาวอังกฤษ เชื่อถือข้อมูลในสื่อโซเชียลน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ 23 ประเทศที่ถูกสุ่มสำรวจ ทำไมคนไทยจึงแตกต่างกันลิบลับกับสังคมอื่น เพราะสังคมนี้ไม่ถูกสอนให้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์


เหนือกว่านั้น สังคมไทยกำลังเดินไปสู่วิกฤตของ"ความเห็นท่วมเมือง"โดยไม่สนใจความจริง


ในทุกวันเราจะพบพานความเห็นจากใครก็ไม่รู้เต็มไปหมด เมนต์ได้เมนต์ดี ส่งกันได้ส่งกันดี ด่ากันได้ด่ากันดีเต็มไปหมด โดยไม่เคยขบคิดว่าเขาเป็นใคร มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เขาพูดจริงหรือไม่ ทำจริงหรือไม่ แต่ด่าทอแสดงความเห็นกันทั้งเมืองในพริบตา ไม่ว่าของจริง ของปลอม


ผมจึงไม่แปลกใจที่การกระจายข่าวปลอมในไทย โดยผู้ไม่หวังดี ประสบผลสำเร็จอย่างมาก เพราะคนไทยที่นิยมสื่อสารในโลกโซเชียล พร้อมจะแชร์ข่าวปลอมอย่างไม่รีรอนั่นเอง


โลกอะไรไม่รู้...ที่ผู้คนซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความเห็นที่ใช้ข้อความด่าทอที่กักขฬะ เหยียดหยาม ทำลายล้าง เกลียดชัง ไม่ให้เกียรติกันในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้อื่น ซึ่ง ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยานิยามความเกลียดชังว่า เป็นความพยายามทำลายต้นกำเนิดแห่งความไม่มีความสุข เติบโตแพร่เผ่าพันธ์อันเลวร้ายออกไปอย่างรวดเร็วทุกอณูของสังคม


ทุกอย่างเป็นผลมาจากเทคโนโลยีมือถือ และโซเชียลมีเดียที่รุกคืบเข้ามาในชีวิตของผู้คนทั้งสิ้น!


คำถามตัวโตๆ ที่ผู้คนในสังคม รัฐบาล กระทรวงดีอี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันครอบครัวต้องทำการบ้านอย่างเร่งด่วนคือ เราจะปล่อยให้สังคมแห่งความเกลียดชังเช่นนี้เติบโตในประเทศนี้โดยไร้การควบคุมหรือไม่ หรือเราจะทำอย่างไรกับมันดี


จักควบคุมสกัดการด่าทอ การให้ร้าย การทำลายล้าง การเหยียดหยาบ การสร้างข่าวเท็จเพื่อทำลายผู้คน อย่างไรกันดี...ก่อนที่สังคมนี้จะเสื่อมทรามไปในเร็ววัน


ถ้าไม่มีการดำเนินการ ผมว่าต่อไป นิสัยแห่งการด่าทอด้วยคำหยาบ การทำลายล้าง ความกักขฬะ จะติดตัวทายาท ลูกหลาน และผู้คนในสังคมไทยให้ทำอะไรโดยไม่สนใจผู้อื่นแน่นอน


เพราะอะไรนะหรือ ดูข้อมูลนี่! ทีเอ็นเอสได้สำรวจพฤติกรรมของคนไทยพบว่า คนไทยใช้เวลาประจำวันในชีวิตทำอะไรนอกเหนือจากการงาน ผมเห็นข้อมูลแล้วสะดุ้ง...


คนไทยใช้เวลาอยู่กับมือถือวันละ 3.2 ชั่วโมง ใช้เวลาเล่นออนไลน์ผ่านทางมือถือ 2.6 ชั่วโมง ใช้เวลาอยู่กับแท็บเลต 43 นาที ใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์ 1.3 ชั่วโมง


ใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารวันละ 5 นาที ฟังวิทยุ 13 นาที ดูทีวีวันละ 2.30 ชั่วโมง


เหนือกว่านั้นเขาสำรวจว่า ตื่นเช้าขึ้น มือคนไทยทำอะไร 50-60% บอกว่า ดูมือถือ เฟซบุ๊ก ดูไลน์ ดูทวิตเตอร์ ดูอินสตาแกรม...ตายแล่วๆ ผมจะเป็นลม


ถ้าปล่อยตามกรรมตามเวรรับรองสังคมนี้ จะเต็มเปี่ยมไปด้วยการด่าทอที่หยาบคายจนเป็นปกติวิสัยแน่นอน...


อาจมีคนเถียงว่า นั่นคือการแสดงความเห็นที่เป็นส่วนตัวบนโลกเสมือนที่ไม่เห็นตัวตน แต่เมื่อใดก็ตามที่พฤติกรรมการด่าทอกันด้วยคำหยาบ ไม่ว่า แม่ง ไอ้เหี้ย อีห่า อีสัส อีดอก ส้นตีน และลามมาถึงการทำลายผู้คนด้วยวาทกรรม"อีช่อ"ฯลฯ เป็นเรื่องปกติ รับรองว่า ความคุ้นชินจนเป็นนิสัยจะมาเยือนให้คนในครอบครัวทุกท่านประพฤติตามได้โดยง่าย


อีกทั้งวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงในอนาคตอันใกล้นี้"ถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง"(Hate speech) มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ หากยังไม่มีการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมhate speechในรูปแบบของการดูถูก การเลือกปฏิบัติ การยั่วยุให้เกิดความรุนแรง รวมถึง"การแก้ไขข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์"จะลามไปทั่ว


ผศ.พิรงรอง รามสูตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เคยเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง" หรือ Hate Speech ในสังคมไทย พบว่า สื่อวิทยุระดับท้องถิ่นกว่า 8,000 คลื่น มีบทบาทสำคัญในฐานะตัวจุด และขยายกระแสความขัดแย้งและความเกลียดชังให้กระจายไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางและเจาะกลุ่มมากขึ้น จึงสร้างผลกระทบด้านลบแก่สังคมที่แบ่งแยกขั้วทางการเมืองชัดเจน ให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น


ขณะที่สื่อออนไลน์ มีผู้นำเนื้อหาที่มีระดับความรุนแรง และลักษณะการสื่อสารความเกลียดชังไปเผยแพร่ในวงกว้าง ที่พบมากที่สุดคือ การยั่วยุทำให้เกิดความเกลียดชังที่ส่งผลกระทบในระดับปัจเจก และหากปล่อยให้มีการสร้างและเผยแพร่ความเกลียดชังอย่างไร้การกำกับดูแล ก็อาจจะทำให้สังคมขาดสมดุลทางความคิด ทำลายวัฒนธรรมแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน คุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และที่สุดก็ส่งผลต่อภาพรวมให้คุณธรรมในสังคมหยาบกระด้าง


ประเทศในยุโรป รวมถึง แคนาดา แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เยอรมนี ฯลฯ ได้บัญญัติให้ hate speech เป็นความผิดทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญาของเยอรมนี มาตรา 130 (1) บัญญัติให้การหมิ่นประมาทกลุ่มของประชากรเป็นความผิดอาญาด้วย


ไทยละควรมีหรือไม่หรือจะปล่อยให้การด่าทอ การทำลายล้างที่มุ่งสร้างความเกลียดชัง ที่ถูกบ่มเพาะออกมาในสังคมผ่านทางโซเชียลมีเดีย การฝักใฝ่ทางการเมือง การแสดงทัศนคติดูถูกคนอื่น แพร่พันธ์มาทำลายสังคมอันดีงามของไทย!

คำตอบอยู่ที่ตัวคุณ!


คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3479 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 16-19 มิ.ย.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ


logoline