svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"สทนช." ทำแผน พร้อมรับมืออุทกภัย 62

13 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สทนช. สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน บูรณาการทุกหน่วย ปรับปรุง Rule Curve ใหม่ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำใหม่ทั่วประเทศ ป้องกันอุทกภัย ฤดูน้ำหลาก

นาย สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมรับมือการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนในปีนี้ว่า ได้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการเพาะปลูกให้ชัดเจน ทั้งในเขต/นอกเขตชลประทาน  มีการปรับปรุง Rule Curve ใหม่ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำใหม่ทั่วประเทศ สำรวจแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ ป้องกันความเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำหลาก 
เตรียมบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน  รับมือเผชิญเหตุอุทกภัย ตรวจสอบสภาพอาคารชลศาสตร์ ระบบการระบายน้ำ สถานีโทรมาตร เพื่อติดตามเฝ้าระวัง ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ สำรวจแม่น้ำ คูคลอง และดำเนินการขุดลอกกำจัดผักตบชวา ตลอดจนขยะ เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคกีดขวางการระบายน้ำ ในช่วงฤดูน้ำหลาก เตรียมความพร้อม เครื่องจักร เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ยังประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำ สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ การแจ้งเตือนล่วงหน้าพร้อมแนวทางการปฏิบัติ รวมถึงการกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติเพื่อบริหารจัดการน้ำในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤติ 

"สทนช." ทำแผน พร้อมรับมืออุทกภัย 62


ซึ่งมีทั้งหมด 3 ศูนย์ปฎิบัติการ ได้แก่ 1.) ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติของ สทนช. เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสาน ติดตาม ข้อมูลจากหน่วยงานด้านน้ำ เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ประจำวัน ซึ่งเป็นการดำเนินการภาวะปกติ หรือ ระดับที่ 1 ระดับสีเขียว 2.) ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติจะเริ่มปฏิบัติงาน เมื่อมีพายุก่อตัวและคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย หรือ ความกดอากาศต่ำพาดผ่าน มีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมหลายจังหวัด คิดเป็นปริมาณฝนสะสม 3 วัน มากกว่า 200 มม. ปริมาณน้ำในลำน้ำมากกว่า 60% ของความจุลำน้ำ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่า 60% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือสูงกว่าเส้นควบคุมบนของ Rule Curve คือ อยู่ในเกณฑ์ระดับที่ 2/3 หรือ ระดับสีเหลือง/ส้ม 
ซึ่งคาดว่าศูนย์ฯ จะเริ่มปฏิบัติงานช่วงกลางเดือนกรกฏาคมนี้เนื่องจากมีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์พายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทย และ 3.) ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีสถานการณ์รุนแรงในระดับประเทศ เข้าสู่ระดับ 4 ระดับสีแดง ซึ่งเป็นระดับสูงสุด มีผลกระทบในวงกว้าง โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลสถานการณ์ พื้นที่รับผลกระทบไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ที่กำกับดูแลโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเร่งด่วนตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ต่อไป 

logoline