svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

การเมืองใหม่กับอันตรายของการใช้สื่อโซเชียลฯ

08 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำหรับ 1 ปีของพรรคอนาคตใหม่ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในรอบหลายสิบปีของวงการการเมืองไทย โดยเฉพาะการเป็นพรรคเกิดใหม่ที่ส่งผู้สมัครโนเนมแทบทุกพื้นที่ แต่กลับได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชน ทำให้ได้ ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อถึงกว่า 80 คน มากกว่าพรรคเก่าแก่ที่เคยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาแล้วทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ หรือชาติไทยพัฒนาก็ตาม

ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จนี้มาจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นระบบ อย่างมียุทธศาสตร์ มีทีมวิเคราะห์ข้อมูล Big Data และกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่พรรคต้องการสร้างแฟนคลับ รวมถึงเครือข่ายอย่างชัดเจน ไม่เปะปะ นอกจากนั้นยังมีระบบวิเคราะห์พฤติกรรม รสนิยม และแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มเป้าหมาย ก่อนกำหนดนโยบายให้ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่นโยบาย แต่ยังรวมไปถึงกิจกรรม แคมเปญ หรือแม้แต่ม็อตโต้ สโลแกนต่างๆ ที่นำมาใช้ด้วย

การเมืองใหม่กับอันตรายของการใช้สื่อโซเชียลฯ

อย่างเช่น กิจกรรม "อนาคตใหม่ ไฟแรงเฟร่อ" ก็หยิบมาจากภาพยนตร์วัยรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คือเรื่อง "เมย์ไหนไฟแรงเฟร่อ" แบบนี้จึงทำให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ที่เป็นเป้าหมายได้ง่าย ตรงข้ามแบบ 360 องศากับภาพลักษณ์และการส่งข้อมูลหรือนโยบายของพรรคการเมืองอื่น ที่ใช้รูปแบบเก่าๆ แบบเป็นทางการ ไม่ทันสมัย และไม่โดนใจ ส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ที่มีรูปแบบการนำเสนอที่ดีกว่า ตรงกลุ่มเป้าหมายกว่า ประสบความสำเร็จและมีกลุ่มผู้สนับสนุนขยายตัวอย่างรวดเร็ว

แต่การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางการเมืองก็สร้างผลในแง่ลบได้มากเหมือนกัน และเริ่มเกิดขึ้นแล้วจนกำลังกลายเป็นประเด็นขัดแย้งใหม่ บางประเด็นถึงขนาดเป็นสงครามย่อยๆ ในโลกไซเบอร์

อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร บอกกับเนชั่นทีวีว่า กรณีที่พรรคการเมืองนิยมชมชอบการใช้สื่อโซเชียลในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารนั้น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ข้อความที่ใช้สื่อสารมักเป็นข้อความสั้นๆ ที่หยิบมาไม่ครบถ้วน ทำให้ความจริงส่วนหนึ่งหายไป อาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้เสพสื่อ

การเมืองใหม่กับอันตรายของการใช้สื่อโซเชียลฯ

นอกจากนั้นยังมีมีการออกแบบวิธีเลือกข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ผู้ใช้สื่อได้ทราบเฉพาะบางสถานการณ์ เพื่อให้มีการโต้ตอบส่งต่อจากฝ่ายกองเชียร์ของตน หรือหวังผลในทางมวลชน ซึ่งอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ที่สำคัญยังมีการนำสถานการณ์บางช่วงบางตอนที่เรียกร้องความสนใจได้ ไปเผยแพร่ต่อ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อภายในกลุ่มซึ่งมีความโน้มเอียงที่จะเชื่ออยู่แล้ว จนอาจนำไปสู่ "ปฏิกิริยาห้องสะท้อน" หรือ Echo chamber effect จนกลายเป็นความเชื่อที่ฝังใจ หากผู้เสพสื่อไม่ได้กลั่นกรองข้อมูลด้วยวิจารณญาณที่มากพอ

logoline